นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความทั่วไป

Sunday, May 25, 2014

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

โรค ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตา ซึ่งเกิดเมื่อคนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น นับเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีความสูญเสียความสามารถในการมองเห็นในผู้สูงอายุ 
ปัจจุบัน ประชากรโลกมีอายุเพิ่มมากขึ้น จึงพบว่าโรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ มีการประเมินพบว่าโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดมาก กว่าครึ่ง (ร้อยละ ๕๔)
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี จึงมักเรียกว่า โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ (Age-related Macular Degeneration or AMD) แต่โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม อาจพบได้ในผู้มีอายุน้อย ซึ่งมักพบในผู้ที่มีประวัติทางครอบครัวเป็นโรคนี้
ชนิดของจุดศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม
ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมมี ๒ ชนิด
๑. โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) พบประมาณร้อยละ ๙๐ เป็นโรคที่ทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ 
โรค กลุ่มนี้จอประสาทตาจะบางลงบริเวณศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม (macula) ทำให้มีความสามารถในการมองเห็นลดลงและเป็นไปอย่างช้าๆ บางรายอาจมีการพัฒนาไปเป็นโรคโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการมองเห็นลดลงอย่างมากควรไปตรวจกับจักษุแพทย์
๒. โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ 
โรค กลุ่มนี้การสูญเสียการมองเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นสาเหตุสำคัญของตาบอด ในโรคนี้ ซึ่งสาเหตุการตาบอดเกิดจากมีหลอดเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตาและผนัง ชั้นอาร์พีอี (RPE) ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะเปราะและแตกง่าย มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากหลอดเลือด ทำให้เกิดแผลเป็นและจอประสาทตาบวม ผู้ป่วยเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางเบี้ยว และเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วและเฉียบพลัน
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการมองเห็นอย่างเฉียบพลันควรพบจักษุแพทย์ทันที ซึ่งสามารถรักษาการมองเห็นได้ดีกว่าที่เป็นมานาน
 
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม มีดังนี้
๑. อายุ พบบ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี
๒. พันธุกรรม พบว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยจะมีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นมาก่อน
๓. เชื้อชาติ/เพศอุบัติการณ์ของโรคสูงในคนผิวขาว และเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
๔. บุหรี่ มีหลักฐานพบว่าการสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง ๑๐ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติครอบครัวร่วมด้วย จะมีโอกาสเพิ่มถึง ๓๐ เท่า
 
อาการเริ่มต้นของโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม
๑. ภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นขาด
๒. มองภาพหรืออ่านหนังสือที่ต้องใช้งานละเอียดยากกว่าปกติ
๓. มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ
๔. การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มขึ้น มองเห็นลดลงไม่ตรงกลางเส้น การมองเห็นสีลดลง
 
ข้อแนะนำเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค
๑. เข้ารับการตรวจตาและจอประสาทตา
๒. งดการสูบบุหรี่
๓. ควบคุมน้ำหนักตัวและออกกำลังกาย
๔. กินสารต้านอนุมูลอิสระและธาตุสังกะสี
๕. ป้องกันดวงตาจากแสงแดด
๖. กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่
๗. สำหรับ การรักษาในกลุ่มโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายหลอดเลือดออกใหม่ ซึ่งแตกง่ายทำให้เกิดเลือดออกหรือทำให้การมองเห็นลดลง 
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาที่จะให้การมองเห็นกลับมาดีดังเดิมได้ แต่พอมีการรักษาที่จะช่วยชะลอการสูญเสียของการมองเห็น 
 
การรักษาในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี
๑. การ รักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นวิธีที่รักษามานานโดยใช้แสงเลเซอร์ยิงเพื่อทำลายหลอดเลือดผิดปกติ ซึ่งนอกจากจะทำลายหลอดเลือดผิดปกติ ยังทำลายหลอดเลือดปกติ และจอประสาทตาปกติด้วย ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นลดลงอย่างมากยิ่งขึ้นได้
๒. การ รักษาด้วยวิธีโฟโต้ไดนามิก (Photodynamic Therapy or PDT) เป็นการรักษาโดยใช้ยา Verteporfin ร่วมกับเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน โดยยาจะทำให้หลอดเลือดผิดปกติเกิดการอุดตัน พบว่าวิธีนี้ยังเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย
๓. การ รักษาด้วยการฉีด Anti VEGF เข้าไปในวุ้นลูกตา เป็นการรักษาโดยใช้นวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์ทางชีววิทยา (Biological Product) ที่ใช้กับตาโดยเฉพาะ วิธีนี้เป็นการรักษาแนวใหม่และยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคได้ตรงจุดมากขึ้น
 
การป้องกันการเกิดโรค
๑. หลีกเลี่ยงการได้รับแสงหรือรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นระยะเวลานาน
๒. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
๓. กิน อาหารที่มีบีตาแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ปริมาณสูง เช่น แอปเปิ้ล บร็อกโคลี ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง
 
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ website : www.rcopt.org
 
 
 
.

No comments:

Post a Comment