นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความทั่วไป

Sunday, May 25, 2014

๗ คำถาม “ตาต้อ”

“ตาต้อ” เป็นกลุ่มของโรคตา “ต้อ” ที่มีลักษณะแตกต่างกัน ฉบับนี้ มาทำความรู้จัก “ตาต้อ” กันดีกว่า
๑.โรคต้อของตามีกี่โรค และมีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ คำว่าต้อเป็นคำทั่วไปหมายถึงตา ดังนั้น เมื่อบอกว่าเป็นโรคต้อ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโรคต้อชนิดใด ที่พบบ่อยๆ และควรทราบ เรียงลำดับตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้

๑.โรคต้อลม (Pinguecular)

มี ลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวเหลืองบริเวณตาขาวข้างๆ ตาดำ เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตา (เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด) มาเป็นเวลานาน มักทำให้มีอาการเคืองตาง่าย ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

๒.โรคต้อเนื้อ (Pterygium)

โรค ต้อเนื้อเป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม แต่เยื่อบุตาลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (cornea) เป็นลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงบริเวณกระจกตาด้านหัวตาหรือหางตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตาและตาแดงบริเวณต้อเนื้อเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

๓.โรคต้อกระจก (Cataract)

โรค ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (lens) ในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาวๆ บัง ส่วนมากมักเป็นจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดหลังอุบัติเหตุต่อดวงตาก็ได้ มักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยจนอาจมองไม่เห็นในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษา

๔.โรคต้อหิน (Glaucoma)

ต้อ หินเป็นโรคที่มีความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) น้อยผิดปกติ ทำให้ลูกตาแข็งขึ้น จนกระทั่งกดขั้วประสาทตา (optic disc) ทำให้มีการเสียของลานสายตาการมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทได้ในที่สุด ส่วนโรคต้ออื่นๆ ที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น เช่น ต้อลิ้นหมา คือต้อเนื้อ หรือโรคต้อลำไย คือต้อหินแต่กำเนิดเป็นต้น

๒.โรคต้อลมสาเหตุเกิดจากลม การใส่แว่นจะป้องกันโรคได้หรือไม่
ตอบ สิ่งระคายเคืองที่เป็นสาเหตุของโรคต้อลม เป็นไปได้ทั้งจากลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้าๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคต้อลมแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นต้อลมอยู่แล้ว มีอาการเคืองตามากขึ้นซึ่งต้อลมจะลุกลามมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งระคาย เคืองดังกล่าว แว่นตามักช่วยกันลมเฉพาะจากทางด้านหน้า จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันทั้งลม ฝุ่น และแสงแดด
ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุดจึงควรให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่นหรือแสงแดดจ้าๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า

๓.โรคต้อเนื้อ เกิดจากการกินเนื้อ และหลังลอกต้อเนื้อควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จริงหรือไม่
ตอบ โรคต้อเนื้อ เกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณข้างตาดำ จากการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด แม้มีลักษณะคล้ายเป็นก้อนเนื้อ แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอาหารประเภทเนื้อ และการกินอาหารประเภทเนื้อหลังการลอกต้อเนื้อ ก็ไม่ทำให้แผลเกิดการอักเสบหรือเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่แต่อย่างใด

๔.โรคต้อกระจกจำเป็นต้องเป็นทุกคนหรือไม่
ตอบ โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์แก้วตาซึ่งควรมีลักษณะใส กลับมีสีขาวหรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น
เมื่อ มนุษย์ทุกคนมีอายุมากขึ้นจะต้องเกิดการเสื่อมของเลนส์ตาทุกคน เมื่อการขุ่นของเลนส์ตามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาตามัวจะเรียกว่าเป็นโรคต้อกระจก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นต้อกระจกแน่นอน แต่อาจเป็นตั้งแต่อายุมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

๕.โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้หรือไม่
ตอบ ปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยากินที่สามารถให้การรักษาโรคต้อกระจกให้หาย ขาดได้ การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัด (หรืออาจเรียกว่าลอกต้อ) เอาเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธีการเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก อาจใช้วิธีดันออกหรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) สลายออกก็ได้ แต่ยังไม่มีการใช้แสงเลเซอร์ในการผ่าตัดโรคต้อกระจก



๖.โรคต้อหิน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเสมอไปหรือไม่ และการผ่าตัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ตอบ โรคต้อหินมีหลายชนิด ดังนั้นการรักษาจึงมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยอดตาลดความดันตา ยากินลดความดันตา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด โดยในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ใช่การผ่าเอาหินหรือของแข็งใดๆ ออกจากตา แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) ออกจากลูกตา ทำให้ความดันตาลดลงและไม่เป็นอันตรายต่อขั้วประสาทตา

๗.โรคต้อต่างๆ เป็นโรคกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ โรคต้อลมและต้อเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งระคายเคืองจึงไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามสภาพ ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่โรคต้อกระจกที่เกิดในเด็กหรือเป็นแต่กำเนิดในบางรายอาจเกิดจากการถ่ายทอด ทางพันธุกรรม ส่วนโรคต้อหินอาจเป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็นโรคพันธุกรรม แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เมื่ออายุเกิน ๔๐ ปี ควรได้รับการตรวจวัดความดันตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ website : www.rcopt.org


 http://www.doctor.or.th/article/detail/13620

No comments:

Post a Comment