นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความทั่วไป

Sunday, May 25, 2014

รังนก ทรรศนะแพทย์แผนจีน

                                                          
"การโฆษณาสรรพคุณรังนกและกินกันแบบผิดๆ นอกจากจะสูญเสียเงินทองและไม่เป็นประโยชน์แล้วบางครั้งอาจเป็นโทษได้"
คนจีนได้จัดอาหารที่มีรสชาติสุดยอดไว้ ๔ อย่าง ได้แก่ หูฉลาม รังนก อุ้งตีนหมี และเป๋าฮื้อ (鱼翅  燕窝、熊掌、鲍鱼)   
รังนก ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพชั้นดีที่ใช้ในผู้ที่เจ็บป่วย เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บำรุงปอด บำรุงพลัง เสริมภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ความเชื่อนี้ทำให้รังนกเป็นที่นิยมในหมู่คนที่มีฐานะ รวมถึงเวลาไปเยี่ยมเยือนผู้ป่วย มักจะซื้อรังนกไปฝาก เพราะเชื่อว่าเป็นของดี มีคุณค่า คุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อสุขภาพ
อย่างไร ก็ตาม ในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีความเห็นที่แตกต่างจากความเชื่อดังกล่าว เช่น จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของรังนก ๑ ขวด ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า มีปริมาณโปรตีนน้อยมาก เมื่อเทียบกับไข่ไก่ ๑ ฟอง (มีโปรตีน ๖.๕ กรัม) หรือนมหนึ่งกล่อง (๘.๕ กรัม) จะพบว่าการกินรังนก ๑ ขวดจะได้ปริมาณโปรตีนเท่ากับการดื่มนม ๑/๖๔ กล่องเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าทั้งในแง่คุณภาพและราคาต่อการบำรุงสุขภาพ
ข้อ ถกเถียงดังกล่าวมาจากสาเหตุที่รังนกมีราคาแพงมาก มีการทุ่มการโฆษณาสูง ดังนั้น ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูง และต้องกินต่อเนื่องระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล จึงต้องลงทุนสูง ผู้บริโภคจะต้องนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ
อีกด้าน หนึ่ง แพทย์แผนจีนก็มีมุมมองที่ต่างกับแพทย์แผนปัจจุบัน ในการมองสรรพคุณของรังนก หรือสมุนไพร อาหารต่างๆ ไม่ได้ยึดถือเอาเฉพาะส่วนประกอบทางโภชนาการของตัวอาหารหรือสมุนไพรมาชี้ขาด คุณสมบัติและประโยชน์เท่านั้น แต่ยังอธิบายตัวฤทธิ์ร้อน เย็น รสชาติ การเข้าสู่อวัยวะอะไร และสามารถปรับสมดุลกลไกและสมดุลยินหยางได้อย่างไร
รังนกคืออะไร
รังนก เป็นรังของนกแอ่น (นกนางแอ่น) ใช้เป็นที่วางไข่และเป็นที่อยู่ของลูกนกก่อนจะเริ่มหัดบิน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เป็นนกที่หากินในทะเลทางใต้แถบทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ ได้อาหารจากปลาเล็กๆ และสาหร่าย มันจะสร้างรังจากน้ำลายของพ่อและแม่ที่สำรอกออกมา โดยมีส่วนของน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารผสมมาด้วย น้ำลายและของเหลวที่สำรอกออกมาจะมีลักษณะเหนียว เมื่อกระทบลมทะเลที่โชยมาตลอดเวลา ทำให้จับตัวแข็งเป็นรูปร่างรังนก
นกนางแอ่นจะสร้างรังนก ๓ ครั้งต่อปี
ครั้งที่ ๑ รังนกที่มีคุณภาพดี หรือ น้ำที่หนึ่ง เนื่องจากสภาพร่างกายของนกมีการสะสมอาหาร บำรุง ในช่วงเวลาที่ยาวนานมาก่อน น้ำลายที่สำรอกออกมา จึงมีสีขาว เหนียวข้น มักไม่มีขนเจือปน มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน เรียกว่า กวนเยี่ยน (官燕)
ครั้งที่ ๒ หลังจากคนเก็บรังนกไป ทำให้มันต้องรีบเร่งในการสร้างรังใหม่ สภาพร่างกายของนกก็ไม่สมบูรณ์เช่นรังแรก น้ำลายที่สำรอกออกมา ความเหนียวข้นจึงน้อยกว่าเดิม และยังมีขนอ่อนของนกปนเปื้อนเข้าไป รังนกจึงมีลักษณะหยาบและมีส่วนประกอบของขนอ่อน ซึ่งทำให้รังนกมีสีดำ หรือรังนกขน – เหมาเยี่ยน (毛燕)
ครั้งที่ ๓ รังนกสีแดง แต่ เดิมเชื่อว่าเป็นการสำรอกเอาน้ำลายที่ยังมีอยู่ (หลังจากถูกเอารังนกไปแล้ว ๒ ครั้ง) จึงต้องสำรอกอย่างรุนแรงออกจากลำคอ ทำให้มีเลือดเจือปนออกมาด้วย เกิดเป็นรังนกสีแดง
ความเชื่อนี้ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะถ้าเป็นเลือดจริงมันจะถูกอากาศออกซิไดซ์โปรตีนให้เป็นรังนกสีดำมากกว่า สีแดงของรังนกที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากอาหารและสภาพแร่ธาตุของถิ่นที่อยู่มาก กว่า เช่น สาหร่าย แมลง แร่ธาตุ ที่อาศัยอยู่ ดังนั้น รังนกบางรัง แม้น้ำแรก (รังแรก) ก็มีสีแดงได้ จึงเรียกรังนกสีแดงว่ารังนกแก่ (老燕) หรือหงเยี่ยน (红燕)
รังนกที่ ๓ จะเก็บภายหลังจากที่นกแอ่น ได้อพยพพาลูกน้อยบินออกจากรังไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงมรสุมซึ่งไม่สามารถสร้างรังได้
รังนกที่มีคุณภาพดี จะอยู่ในแถบทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ เช่น  อินโดนีเซีย ประเทศไทย สิงคโปร์ และทะเลแถบมณฑล เช่น ไห่นาน
ปัจจุบัน มีการสร้างบ้านให้นกแอ่นมาทำรัง แทนที่จะต้องไปหารังนกสัมปทานตามเกาะต่างๆ ซึ่งยุ่งยากกว่ามาก ทำให้สามารถสร้างรายได้แก่ผู้คนจำนวนมาก

รังนกกับการบันทึกในตำราแพทย์แผนจีน  
หนังสือ “สืออู้ยี่จี้” (食物宜忌) กล่าว ถึงสรรพคุณรังนกไว้ว่า “เสริมพลัง กระตุ้นความอยากอาหาร เสริมจิง บำรุงไขกระดูก ให้ความชุ่มชื้นกับปอด รักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง ละลายเสมหะ”
หนังสือ “เปิ่นเฉ่ากังมู่สือยี่” (本草纲目拾遗) เขียนโดย จ้าวเสวี๊ยหมิ่น (赵学敏) สมัยราชวงศ์ชิง กล่าวถึงรังนกไว้ว่า
“รังนก สามารถใช้บำรุงยินของปอดได้ดีมาก (补肺养阴) สลายเสมหะ หยุดไอ ทั้งบำรุงและระบายร้อน เป็นอาหารและยาที่ดีเยี่ยมในการบำรุงร่างกายที่ทรุดโทรม โรคทั้งหลายที่เกิดจากพลังปอดพร่อง พลังปอดไม่ลงสู่ส่วนล่าง (清肃下行) สามารถรักษาด้วยรังนก”
แพทย์แผนจีนจัดรังนกมีฤทธิ์ไม่ร้อน ค่อนไปทางเย็น มีฤทธิ์กลางๆ รสหวาน เข้าเส้นลมปราณ ปอด ม้าม ไต มีสรรพคุณทั้งบำรุงพลังและขับระบายความร้อน (补而能清) ค่อนไปทางบำรุงยินทำให้ภายในไม่แห้ง เกิดความชุ่มชื่น และบำรุงพลังไปพร้อมกัน (补肺养阴, 滋阴补肾, 清肃下行, 补而能清)
เนื่องจาก การใช้อาหารและสมุนไพรจีน ไม่สามารถจะบอกเพียงแค่อาการ แล้วบอกตัวยาที่จะต้องใช้ หรืออาหารที่ควรกินเป็นสูตรตายตัว เพราะต้องวิเคราะห์สภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ คนที่เป็นโรคเดียวกันสภาพร่างกายอาจจะต่างกันหรือเหมือนกันก็ได้ การดูแลรักษาสุขภาพแบบแพทย์แผนจีนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรับสมดุล อาการที่แสดงออกของผู้ป่วยแต่ละคน อาจมีพื้นฐานความเสียสมดุลต่างกัน

ผู้ป่วยมะเร็งกินรังนกได้หรือไม่    
เนื่องจากรังนกมีส่วนประกอบของกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโปรตีนในปริมาณสูง และรังนกยังช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ (Mitogenic stimulation factor) จึง มีปัญหาถามว่า การกินรังนกจะทำให้เซลล์มะเร็งได้รับอาหารโปรตีน และยังได้รับการกระตุ้นให้แบ่งตัวได้เร็วขึ้น เท่ากับไปทำให้มะเร็งรุนแรงขึ้นหรือไม่
แพทย์แผนจีนมีแนวคิดในการ รักษาโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็งที่มีเอกลักษณ์ หรือจุดเด่นเฉพาะ คือการรักษาโรคที่เป็นปัญหาเฉพาะส่วน กับการรักษาร่างกายโดยองค์รวม การต่อสู้กับมะเร็ง ด้านหนึ่งต้องทำลายมะเร็ง อีกด้านหนึ่งต้องเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อควบคุมมะเร็งหรือที่เรียกว่า การพยุงเจิ้งชี่ขจัดเสียชี่ (扶正祛邪)
ผู้ป่วย มะเร็ง หรือระหว่างการรักษามะเร็ง ถ้ามีภาวะยินพร่อง เนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้ร่างกายมีศักยภาพในการต่อสู้กับโรคน้อยลง ดังนั้น ถ้าเราใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารที่มีลักษณะเสริมยินไปช่วยปรับสมดุล ก็จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งเหมือนกับคนที่มีหนี้สิน จะใช้ข้อสรุปตายตัวว่า ห้ามกู้หนี้ยืมสิน เพราะจะต้องเสียดอกเบี้ยหนี้จะเพิ่มมากขึ้นเพียงด้านเดียวไม่ได้ เพราะการกู้หนี้แล้วสามารถแก้พื้นฐานภายในระยะยาวได้ ถือว่ามีประโยชน์ มีคุณมากกว่ามีโทษ จึงต้องมองสภาพร่างกายโดยองค์รวมของผู้ป่วยเป็นหลักมากกว่าพิจารณาเฉพาะส่วน

คนประเภทไหนไม่ควรกินรังนก ควรกินอย่างไรจึงถูกวิธี  
คน ที่ภาวะหยางพร่อง ร่างกายภายในมีความเย็นมาก คนที่ท้องเสีย อาเจียน มีเสมหะมาก ระบบย่อยไม่ดี หรือคนมีภาวะร้อนชื้น ของเสียตกค้างในร่างกายมากจนเกิดความร้อน ไม่ควรกินรังนก
เนื่องจาก โปรตีนจากรังนกเป็นโปรตีนมีขนาดใหญ่และฤทธิ์กลางๆ การดูดซึมจะเป็นไปอย่างช้าๆ การกินต้องแบ่งกินสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๖ กรัม กินต่อเนื่องประมาณ ๑ เดือน แล้วหยุดกิน ๒-๓ เดือน แล้วเริ่มใหม่ การกินครั้งละมากๆ ไม่มีประโยชน์ เพราะดูดซึมไม่หมด ถือว่าสิ้นเปลือง คนที่มีฐานะดี กินได้ทุกวันปริมาณน้อยๆ และต่อเนื่อง
การกินรังนก ไม่ควรกินตอนท้องว่าง เพราะการดูดซึมในขณะที่กระเพาะอาหาร ลำไส้ยังไม่ค่อยทำงาน ทำให้การดูดซึมรังนกไม่สมบูรณ์

รังนกปลอมทำมาจากอะไร
เนื่อง จากสินค้ารังนกมีราคา มีคนพยายามลอกเลียนแบบทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม โดยทำให้มีรูปร่างคล้ายรังนก รสชาติใกล้เคียง เช่น ทำจากวุ้นสาหร่าย เห็ดหูหนูขาว แป้ง ถั่ว หรือยางสน (松香)
ซึ่งแน่นอนย่อมไม่มีสรรพคุณเหมือนรังนกธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญรังนกสามารถแยกรังนกแท้กับรังนกเทียมออกจากกันได้
สรรพคุณ และคุณค่าของรังนกในมุมมองที่ต่างกัน จะให้คุณค่าที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเทียบปริมาณโปรตีนเป็นเกณฑ์ โปรตีนในรังนกไปเทียบราคาโปรตีนจากแหล่งอื่น ก็อาจด้อยค่ากว่า แต่ถ้ามองในแง่คุณลักษณะการปรับสมดุล โปรตีนจากสัตว์ที่ต่างกัน ระหว่างเนื้อเป็ดกับเนื้อไก่ เนื้อหมูกับเนื้อวัว ทางแพทย์จีนยังต้องแยกสภาพ ยิน-หยางของโปรตีน เช่น เนื้อเป็ดฤทธิ์เย็น เนื้อหมูฤทธิ์กลาง เนื้อไก่ฤทธิ์ค่อนร้อน เนื้อวัวอุ่นร้อน ฤทธิ์ในการปรับสมดุลต่อร่างกายก็ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การโฆษณาสรรพคุณรังนกและกินกันแบบผิดๆ นอกจากจะสูญเสียเงินทอง และไม่เป็นประโยชน์แล้ว บางครั้งอาจเป็นโทษได้
การ พิจารณาซื้อรังนก จึงต้องพิจารณาสภาพร่างกาย สภาพเศรษฐกิจ แล้วเลือกซื้อรังนกที่มีคุณภาพ การเลือกใช้ตัวยาสมุนไพรอื่นๆ ที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน ราคาถูกกว่า เสริมบำรุงยินของปอด เช่น ไป่ซาเซิน (北沙参) ม่ายตง (麦冬) ยวี่จู๋ (玉竹) ไป๋เหอ (百合) โดยการปรึกษาแพทย์จีนที่มีความรู้น่าจะเป็นประโยชน์กว่า อย่าคิดแต่ว่ามีเงินแล้วใช้จ่ายโดยไม่ประมาณตัว อาจจะถูกหลอกด้วยการจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อซื้อรังนกปลอมก็ได้


 http://www.doctor.or.th/article/detail/13638

โรคตาในผู้สูงอายุ

วันเวลาที่ผ่านล่วงเลยไป จากวัยเด็ก สู่วัยผู้ใหญ่ และผ่านเข้าสู่วัยสูงอายุ  ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องได้รับการดูแล เพื่อให้สามารถมองโลกที่สดใสได้ตลอดไป การเปลี่ยนแปลงหรือความเสื่อมอาจเกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ของตา ทำให้เกิดโรคทางตาในผู้สูงอายุ โรคทางตาที่ควรรู้จักเพื่อรักษาสุขภาพตาของผู้สูงอายุให้อยู่ได้นานที่สุด ดังนี้
๑.โรคต้อกระจก
โรคต้อกระจก (cataract) เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา ผู้ที่อายุมากกว่า ๗๐ ปีพบได้ถึงร้อยละ ๗๐ 
อาการ ไม่มีอาการปวดตา ภาพมัวมืด เวลามองแสงจ้าจะเกิดแสงสะท้อน เช่น มองไฟหน้ารถที่ขับสวน ภาพบิดเบี้ยว มองเห็นในระยะใกล้ชัดขึ้น การมองเห็นในที่มืดแย่ลง
สาเหตุสำคัญ เกิดจากความเสื่อมตามอายุ สาเหตุอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บที่ตา โรคเบาหวาน สาเหตุที่มักเข้าใจผิดและไม่ได้ทำให้เกิดต้อกระจก ได้แก่ โรคมะเร็ง การใช้สายตามาก
การรักษา โดยการผ่าตัดหรือสลายเลนส์ตาที่ขุ่นออก เป็นการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ โดยจะผ่าเมื่อบดบังการมองเห็นมาก จนมีผลกระทบต่อการใช้งาน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ

๒.โรคต้อหิน
โรคต้อหิน เกิดจากการระบายน้ำในลูกตาผิดปกติ ทำให้ความดันตาสูง และกดทำลายเส้นประสาทตาได้ (glaucoma) พบได้ถึงร้อยละ ๒ ในคนอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป โดยช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ ไม่ปวด ดังนั้นการรีบวินิจฉัยและรักษาจะสามารถช่วยไม่ให้เกิดการตาบอดได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคต้อหิน ควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง
•    อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป
•    มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน
•    ความดันในลูกตาสูง
•    เชื้อสายแอฟริกัน หรือฮิสแปนิก
•    โรคเบาหวาน ใช้ยาสตีรอยด์ มีการบาดเจ็บที่ตาในอดีต โรคซีดหรือขาดเลือด ภาวะช็อก
อาการของโรคต้อหิน
•    โดยทั่วไปมักไม่มีอาการในช่วงแรกของโรค โดยต่อมาจะสูญเสียการมองเห็นจากทางด้านนอก และตาบอดในที่สุด ซึ่งอาจมีต้อหินบางประเภท (เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน) ที่อาจมีอาการปวดมาก คลื่นไส้ เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ ตาแดง ภาพมัวและมองไม่เห็นในที่สุด ซึ่งเป็นอาการเร่งด่วนต้องรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
การรักษา
•    ไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนมาเท่าคนปกติ แต่สามารถชะลอไม่ให้โรคแย่ลงได้
•    ในปัจจุบัน โรคต้อหินส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยยาลดความดันตา เพื่อป้องกันการทำลายเส้นประสาทตา โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

๓. โรคสายตายาวในผู้สูงอายุ 

โรคสายตายาวในผู้สูงอายุ (presbyopia) มักเกิดหลังอายุ ๔๐ ปี เกิดจากเลนส์ตาที่แข็งขึ้น สูญเสียความสามารถในการปรับการมองใกล้และไกล ดังนั้น ผู้ป่วยมักต้องถือหนังสือไกลขึ้นจึงจะอ่านได้ชัด โดยอาการจะเกิดขึ้นกับทุกคน ทั้งสายตาสั้น ยาว และปกติ โดยพบว่าผู้ที่มีสายตายาวอาจเกิดอาการเร็วกว่าปกติ
วิธีรักษา ปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตัดแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ

๔.โรคตาแห้ง
โรคตาแห้ง (dry eye) มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เริ่มเมื่อวัยกลางคน สัมพันธ์กับภาวะเปลือกตาอักเสบ และโรคทางกายบางชนิด เกิดจากการผลิตน้ำตาที่น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองเหมือนมีฝุ่นผงในตา มักเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่แห้งหรือห้องแอร์ อาจมีขี้ตาเหนียว การมองเห็นไม่ชัดต้องกะพริบตาบ่อยๆ ในผู้ป่วยบางคนอาจเคืองตาแล้วมีน้ำตาไหลมากขึ้นได้ เมื่อมีอาการควรพบจักษุแพทย์
 การรักษา
ในระยะเริ่มแรกใช้น้ำตาเทียม เมื่ออาการเป็นมากขึ้นควรปรึกษาจักษุแพทย์ การดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงลม ฝุ่น ถ้าอยู่ในห้องแอร์หรืออากาศแห้งอาจหาแก้วใส่น้ำอุ่นวางไว้เพื่อให้มีความ ชื้นในอากาศ รักษาโรคเปลือกตาอักเสบ และโรคทางกายอื่นๆ
๕. โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ
โรค จุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD : Age Related Macular Degeneration) เกิดจากการทำลายบริเวณจุดศูนย์กลางของการรับภาพ และสี โดยไม่ทราบสาเหตุการเสื่อมที่แน่นอน
ปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญ คือ
•    ผู้สูงอายุ พบว่าอัตราการเกิดโรคในคนอายุ ๗๕ ปี มีถึงร้อยละ ๓๐ เมื่อเทียบกับร้อยละ ๒ ในคนอายุ ๕๐ ปี
•    การสูบบุหรี่
•    การสัมผัสแสงอาทิตย์และแสง UV ปริมาณมาก
•    ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการของโรค ได้แก่ ภาพมัว บิดเบี้ยว สีจางลง มีปัญหาในการอ่าน หรือจำหน้าคน เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ
การรักษาโรค ไม่มีการรักษาที่หายขาด แต่การรักษาจะช่วยชะลอการเกิดโรคที่มากขึ้น ในระยะแรกอาจให้วิตามิน แต่การดำเนินโรคก็อาจเป็นมากขึ้นได้ โดยในระยะหลัง อาจร่วมกับการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือฉีดยาเข้าในลูกตา
การป้องกัน
•    ผู้สูงอายุควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี และเมื่อมีการมองเห็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวควรรีบมาพบจักษุแพทย์
•    ผู้ป่วยที่เป็นโรคควรทดสอบการมองเห็นเป็นประจำด้วยแผ่น Amsler grid ทีละตา โดยให้ผู้ป่วยมองจุดดำตรงกลางภาพ ถ้าเห็นเส้นที่อยู่รอบๆ จุดนั้น เป็นคลื่น ไม่เป็นเส้นตรง แสดงว่าอาจมีภาวะโรคจุดรับภาพเสื่อม โดยผู้ป่วยอาจทดสอบด้วยตัวเอง โดยการมองสิ่งที่เป็นเส้นตรง เช่น กรอบประตู หน้าต่าง ซึ่งถ้าบิดเบี้ยว ก็ควรรีบมาพบแพทย์
•    หยุดสูบบุหรี่
•    สวมแว่นตากันแดด
•    รักษาโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด
•    กินผักผลไม้ อาหารครบ ๕ หมู่
•    กินวิตามินเสริม เช่น วิตามินซี อี สังกะสี ลูทีน ซีแทนซีน (วิตามินเอในฟักทองและแครอต) ไม่ช่วยป้องกันในผู้ที่ยังไม่เป็นโรค แต่ช่วยชะลอโรคในผู้ที่เป็นโรคแล้ว

สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ website : www.rcopt.org


 http://www.doctor.or.th/article/detail/11468

๗ คำถาม “ตาต้อ”

“ตาต้อ” เป็นกลุ่มของโรคตา “ต้อ” ที่มีลักษณะแตกต่างกัน ฉบับนี้ มาทำความรู้จัก “ตาต้อ” กันดีกว่า
๑.โรคต้อของตามีกี่โรค และมีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ คำว่าต้อเป็นคำทั่วไปหมายถึงตา ดังนั้น เมื่อบอกว่าเป็นโรคต้อ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโรคต้อชนิดใด ที่พบบ่อยๆ และควรทราบ เรียงลำดับตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้

๑.โรคต้อลม (Pinguecular)

มี ลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวเหลืองบริเวณตาขาวข้างๆ ตาดำ เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุตา (เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด) มาเป็นเวลานาน มักทำให้มีอาการเคืองตาง่าย ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

๒.โรคต้อเนื้อ (Pterygium)

โรค ต้อเนื้อเป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม แต่เยื่อบุตาลามเข้ามาถึงบริเวณกระจกตาดำ (cornea) เป็นลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงบริเวณกระจกตาด้านหัวตาหรือหางตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตาและตาแดงบริเวณต้อเนื้อเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง ไม่ทำให้ตามัวหรือบอด

๓.โรคต้อกระจก (Cataract)

โรค ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (lens) ในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาวๆ บัง ส่วนมากมักเป็นจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดหลังอุบัติเหตุต่อดวงตาก็ได้ มักทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยจนอาจมองไม่เห็นในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษา

๔.โรคต้อหิน (Glaucoma)

ต้อ หินเป็นโรคที่มีความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) น้อยผิดปกติ ทำให้ลูกตาแข็งขึ้น จนกระทั่งกดขั้วประสาทตา (optic disc) ทำให้มีการเสียของลานสายตาการมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทได้ในที่สุด ส่วนโรคต้ออื่นๆ ที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น เช่น ต้อลิ้นหมา คือต้อเนื้อ หรือโรคต้อลำไย คือต้อหินแต่กำเนิดเป็นต้น

๒.โรคต้อลมสาเหตุเกิดจากลม การใส่แว่นจะป้องกันโรคได้หรือไม่
ตอบ สิ่งระคายเคืองที่เป็นสาเหตุของโรคต้อลม เป็นไปได้ทั้งจากลม ฝุ่น หรือแสงแดดจ้าๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคต้อลมแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นต้อลมอยู่แล้ว มีอาการเคืองตามากขึ้นซึ่งต้อลมจะลุกลามมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งระคาย เคืองดังกล่าว แว่นตามักช่วยกันลมเฉพาะจากทางด้านหน้า จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันทั้งลม ฝุ่น และแสงแดด
ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุดจึงควรให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่นหรือแสงแดดจ้าๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า

๓.โรคต้อเนื้อ เกิดจากการกินเนื้อ และหลังลอกต้อเนื้อควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จริงหรือไม่
ตอบ โรคต้อเนื้อ เกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณข้างตาดำ จากการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด แม้มีลักษณะคล้ายเป็นก้อนเนื้อ แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอาหารประเภทเนื้อ และการกินอาหารประเภทเนื้อหลังการลอกต้อเนื้อ ก็ไม่ทำให้แผลเกิดการอักเสบหรือเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่แต่อย่างใด

๔.โรคต้อกระจกจำเป็นต้องเป็นทุกคนหรือไม่
ตอบ โรคต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์แก้วตาซึ่งควรมีลักษณะใส กลับมีสีขาวหรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น
เมื่อ มนุษย์ทุกคนมีอายุมากขึ้นจะต้องเกิดการเสื่อมของเลนส์ตาทุกคน เมื่อการขุ่นของเลนส์ตามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาตามัวจะเรียกว่าเป็นโรคต้อกระจก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นต้อกระจกแน่นอน แต่อาจเป็นตั้งแต่อายุมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

๕.โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้หรือไม่
ตอบ ปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยากินที่สามารถให้การรักษาโรคต้อกระจกให้หาย ขาดได้ การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัด (หรืออาจเรียกว่าลอกต้อ) เอาเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธีการเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก อาจใช้วิธีดันออกหรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) สลายออกก็ได้ แต่ยังไม่มีการใช้แสงเลเซอร์ในการผ่าตัดโรคต้อกระจก



๖.โรคต้อหิน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเสมอไปหรือไม่ และการผ่าตัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ตอบ โรคต้อหินมีหลายชนิด ดังนั้นการรักษาจึงมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยอดตาลดความดันตา ยากินลดความดันตา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด โดยในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ใช่การผ่าเอาหินหรือของแข็งใดๆ ออกจากตา แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงในลูกตา (aqueous) ออกจากลูกตา ทำให้ความดันตาลดลงและไม่เป็นอันตรายต่อขั้วประสาทตา

๗.โรคต้อต่างๆ เป็นโรคกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ โรคต้อลมและต้อเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งระคายเคืองจึงไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามสภาพ ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่โรคต้อกระจกที่เกิดในเด็กหรือเป็นแต่กำเนิดในบางรายอาจเกิดจากการถ่ายทอด ทางพันธุกรรม ส่วนโรคต้อหินอาจเป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็นโรคพันธุกรรม แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เมื่ออายุเกิน ๔๐ ปี ควรได้รับการตรวจวัดความดันตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ website : www.rcopt.org


 http://www.doctor.or.th/article/detail/13620

โรควุ้นลูกตาเสื่อม

เห็นหยากไย่ลอย ทำให้ตาบอดจริงหรือ

เชื่อว่าคง มีหลายๆ คนที่เคย หรือกำลังมีอาการคล้ายมีหยากไย่ แมลงวัน ยุง หรือใยแมงมุม ลอยบังไปมาในตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ตา ซึ่งบางคนอาจรู้สึกคล้ายมีแสงฟ้าแลบในตาร่วมด้วย ทำให้หลายคนกังวลว่าตาเป็นอะไรหรือเปล่า จะต้องรักษาหรือไม่ จะทำให้ตาบอดได้หรือเปล่า และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย จริงๆ แล้ว ผู้ที่มีอาการอย่างนี้จะเป็นจากโรคอะไรได้บ้าง เช่น
  • น้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด
  • เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา จากสาเหตุต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน
  • การอักเสบในลูกตา

ใน ที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ต้องขอทบทวนคร่าวๆ เกี่ยวกับระบบกายวิภาคของลูกตาก่อน โดยดูจากรูปร่วมไปด้วยจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ปกติตาจะมองเห็นได้นั้นแสงจากวัตถุต้องผ่านน้ำตาที่เคลือบผิวกระจกตา (cornea)  น้ำในช่องลูกตาด้านหน้า (anterior chamber) แก้วตา (lens) น้ำวุ้นลูกตา (vitreous) และจอประสาทตา (retina) ตามลำดับ จากนั้นจะมีสัญญาณกระแสประสาทส่งไปตามเส้นประสาท (optic nerve) เข้าสู่สมองแปลเป็นการรับรู้ภาพวัตถุนั้นๆ
บางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ มาก (ภาวะนี้พบน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ในคนอายุน้อยกว่า ๕๐ ปี แต่พบได้กว่าร้อยละ ๖๐ ในคนอายุมากกว่า ๗๐ ปี) ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ผู้หญิง คนที่ไม่มีเลนส์แก้วตา มีการอักเสบในลูกตา หรือเคยมีประวัติการกระแทกที่ตาอย่างรุนแรง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมลงในส่วนของน้ำวุ้นลูกตาขึ้นมาได้ โดยจะเริ่มด้วยการเปลี่ยนสภาพจากวุ้นเป็นของเหลวในส่วนตรงกลางของน้ำวุ้นลูก ตา ต่อมามีรูเกิดขึ้นที่ผิวของน้ำวุ้นลูกตาทางด้านหลัง ทำให้ของเหลวที่อยู่ตรงกลางไหลผ่านรูไปอยู่ระหว่างจอประสาทตากับผิวของน้ำ วุ้นลูกตา เกิดการแยกตัวกันของน้ำวุ้นลูกตาและจอประสาทตา (posterior vitreous detachment) ประกอบกับน้ำวุ้นลูกตามีการหดตัวเล็กลงทำให้ความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเกิดมี เส้นใยของคอลลาเจนที่หนาขึ้นมาได้ 
เส้นใยเหล่านี้ก็จะลอยไปมาในน้ำ วุ้นลูกตา ถ้าลอยมาตำแหน่งที่แสงผ่านเข้าตาก็จะทำให้เห็นเป็นเงาคล้ายหยากไย่หรือยุง ลอยไปมาในตาของเรา ซึ่งมักจะเห็นได้ตอนอยู่ในที่สว่าง มองผนังสีขาวหรือก้มลงดื่มน้ำ บางทีเราเข้าใจว่าหยากไย่บังอยู่หน้าตาเรา
ความ สำคัญอยู่ที่ว่า ถ้ามีแค่นี้ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรักษาอะไร ถ้าเส้นใยเหล่านี้ลอยมาแนวกลางตาก็บังแสงเข้าตา ถ้าลอยไปอยู่ริมๆ ก็ไม่บังตา แรกๆ เราอาจรำคาญ แต่นานๆ ไปจะชินมากขึ้น แต่ปัญหามีอยู่ว่าในบางคน (ส่วนน้อย) จะเกิดมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมาได้ และอาจมีจอประสาทตาลอกทำให้ตามัวตามมา จะต้องรักษาโดยการผ่าตัดตา เมื่อรักษาหายแล้วตาก็มักจะไม่เห็นชัดเท่าเดิม

ทำไมจอประสาทตาลอกได้
หลาย คนอาจสงสัยว่าจอประสาทตาลอกได้อย่างไรนั้น เนื่องจากน้ำวุ้นลูกตากับจอประสาทตาซึ่งเดิมเคยอยู่ติดกัน บางส่วนก็อยู่ติดกันหลวมๆ บางส่วนก็อยู่ติดกันแน่น เช่น รอบเส้นประสาทตา หลอดเลือดขนาดใหญ่ของจอประสาทตา และจอประสาทตาบริเวณขอบๆ ที่อยู่ติดกันแน่น โดยเฉพาะแถวขอบของจอประสาทตาอาจถูกน้ำวุ้นลูกตาดึงเกิดกระแสสัญญาณไปสมอง ทำให้มองเห็นคล้ายมีแสงฟ้าแลบเกิดขึ้นในตาของเราเอง ซึ่งมักสังเกตพบตอนค่ำมืด หรือจอประสาทตาอาจถูกดึงแรงจนฉีกขาด อาจทำให้หลอดเลือดที่พาดผ่านจอประสาทตาแถวนั้นฉีกขาดไปด้วย มีเลือดออกลอยในน้ำวุ้นลูกตาก็ทำให้ตามองไม่ชัดมากขึ้น หรืออาจมองเห็นเป็นสีแดงๆ บังในตาหรือมีหยากไย่ลอยในตา
นอกจากนี้ น้ำวุ้นในลูกตาส่วนที่เหลว ก็สามารถไหลผ่านรูฉีกขาดนี้ เซาะให้จอประสาทตาลอกตัวออกจากผนังลูกตา เรียกว่ามีจอประสาทตาลอก ทำให้ตามัวต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแม้รักษาหายแล้วการมองเห็นจะไม่ดีเหมือนเดิม
ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดจอประสาทตาลอกได้ก็จะดี แต่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าใครที่มีอาการเห็นหยากไย่ในตาหรือแสงฟ้า แลบในตาจะมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมา จักษุแพทย์จึงใช้วิธีนัดมาตรวจจอประสาทตาหลายครั้งเป็นระยะๆ
จอประสาทตาฉีกขาด 

จอประสาทตาฉีกขาด
ใน ผู้ที่มีการเสื่อมและแยกตัวของน้ำวุ้นลูกตาร่วมกับมีอาการเห็นคล้ายหยากไย่ หรือฟ้าแลบในตา จะมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยประมาณร้อยละ ๑๕ ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยการยิงเลเซอร์ 
แต่ถ้าดูจากว่ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วยหรือไม่ พบว่าผู้ที่มีการเสื่อมและแยกตัวของน้ำวุ้นลูกตา ถ้ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วยจะพบมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยได้ถึงร้อยละ ๗๐
แต่ถ้าไม่มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วย จะพบมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยแค่ร้อยละ ๒-๔ เท่านั้น
โดย ทั่วไปจักษุแพทย์จะตรวจจอประสาทตาผู้ที่มีอาการในครั้งแรกที่มาหา โดยหยอดยาขยายม่านตาซึ่งจะทำให้ตาข้างที่ขยายม่านตามองไม่ชัดชั่วคราวประมาณ ๔-๖ ชั่วโมง ดังนั้นถ้าไปหาแพทย์ควรพาใครไปด้วยเพื่อช่วยเหลือเราตอนกลับบ้าน
ถ้าตรวจแล้วปกติ ไม่พบจอประสาทตาฉีกขาด จักษุแพทย์ก็จะนัดตรวจอีกครั้งใน ๔-๖ สัปดาห์ต่อไป
ถ้าตรวจแล้วปกติอีกก็จะนัดอีก ๑ ปี แต่ถ้าพบจอประสาทตาฉีกขาดก็จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น
ทั้งนี้ การนัดอาจไม่เหมือนกันทีเดียวแล้วแต่จักษุแพทย์แต่ละท่าน โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรค เพื่อให้สบายใจว่าส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นปัญหาอะไร ไม่ต้องรักษาอะไร อาการนี้จะอยู่ไปตลอดได้แต่ไม่อันตราย และมักจะลดลงได้ เพียงแต่มีคนส่วนน้อยที่อาจมีปัญหาจอประสาทตาลอกตามมา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้มาตรวจตามนัด และถ้ามีอาการเห็นหยากไย่หรือแสงฟ้าแลบในตามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือตามัวลง ให้รีบมาตรวจก่อนนัดเพราะอาจจะมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว
ถ้ามี โอกาสพบใครมีอาการเห็นหยากไย่ ใยแมงมุม ยุง หรือแมลงหวี่ แมลงวัน ลอยไปมาในตา หรือฟ้าแลบในตา เราก็สามารถให้คำอธิบายและคำแนะนำที่ถูกต้องได้แล้ว เพราะตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากที่สุดอวัยวะหนึ่งของคนเราเลยใช่ไหมครับ

สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org


 http://www.doctor.or.th/article/detail/14591

.

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

โรค ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตา ซึ่งเกิดเมื่อคนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น นับเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีความสูญเสียความสามารถในการมองเห็นในผู้สูงอายุ 
ปัจจุบัน ประชากรโลกมีอายุเพิ่มมากขึ้น จึงพบว่าโรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ มีการประเมินพบว่าโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดมาก กว่าครึ่ง (ร้อยละ ๕๔)
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี จึงมักเรียกว่า โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ (Age-related Macular Degeneration or AMD) แต่โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม อาจพบได้ในผู้มีอายุน้อย ซึ่งมักพบในผู้ที่มีประวัติทางครอบครัวเป็นโรคนี้
ชนิดของจุดศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม
ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมมี ๒ ชนิด
๑. โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) พบประมาณร้อยละ ๙๐ เป็นโรคที่ทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ 
โรค กลุ่มนี้จอประสาทตาจะบางลงบริเวณศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม (macula) ทำให้มีความสามารถในการมองเห็นลดลงและเป็นไปอย่างช้าๆ บางรายอาจมีการพัฒนาไปเป็นโรคโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการมองเห็นลดลงอย่างมากควรไปตรวจกับจักษุแพทย์
๒. โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ 
โรค กลุ่มนี้การสูญเสียการมองเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นสาเหตุสำคัญของตาบอด ในโรคนี้ ซึ่งสาเหตุการตาบอดเกิดจากมีหลอดเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตาและผนัง ชั้นอาร์พีอี (RPE) ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะเปราะและแตกง่าย มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากหลอดเลือด ทำให้เกิดแผลเป็นและจอประสาทตาบวม ผู้ป่วยเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางเบี้ยว และเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วและเฉียบพลัน
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการมองเห็นอย่างเฉียบพลันควรพบจักษุแพทย์ทันที ซึ่งสามารถรักษาการมองเห็นได้ดีกว่าที่เป็นมานาน
 
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม มีดังนี้
๑. อายุ พบบ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี
๒. พันธุกรรม พบว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยจะมีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นมาก่อน
๓. เชื้อชาติ/เพศอุบัติการณ์ของโรคสูงในคนผิวขาว และเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
๔. บุหรี่ มีหลักฐานพบว่าการสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง ๑๐ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติครอบครัวร่วมด้วย จะมีโอกาสเพิ่มถึง ๓๐ เท่า
 
อาการเริ่มต้นของโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม
๑. ภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นขาด
๒. มองภาพหรืออ่านหนังสือที่ต้องใช้งานละเอียดยากกว่าปกติ
๓. มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ
๔. การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มขึ้น มองเห็นลดลงไม่ตรงกลางเส้น การมองเห็นสีลดลง
 
ข้อแนะนำเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค
๑. เข้ารับการตรวจตาและจอประสาทตา
๒. งดการสูบบุหรี่
๓. ควบคุมน้ำหนักตัวและออกกำลังกาย
๔. กินสารต้านอนุมูลอิสระและธาตุสังกะสี
๕. ป้องกันดวงตาจากแสงแดด
๖. กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่
๗. สำหรับ การรักษาในกลุ่มโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายหลอดเลือดออกใหม่ ซึ่งแตกง่ายทำให้เกิดเลือดออกหรือทำให้การมองเห็นลดลง 
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาที่จะให้การมองเห็นกลับมาดีดังเดิมได้ แต่พอมีการรักษาที่จะช่วยชะลอการสูญเสียของการมองเห็น 
 
การรักษาในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี
๑. การ รักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นวิธีที่รักษามานานโดยใช้แสงเลเซอร์ยิงเพื่อทำลายหลอดเลือดผิดปกติ ซึ่งนอกจากจะทำลายหลอดเลือดผิดปกติ ยังทำลายหลอดเลือดปกติ และจอประสาทตาปกติด้วย ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นลดลงอย่างมากยิ่งขึ้นได้
๒. การ รักษาด้วยวิธีโฟโต้ไดนามิก (Photodynamic Therapy or PDT) เป็นการรักษาโดยใช้ยา Verteporfin ร่วมกับเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน โดยยาจะทำให้หลอดเลือดผิดปกติเกิดการอุดตัน พบว่าวิธีนี้ยังเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย
๓. การ รักษาด้วยการฉีด Anti VEGF เข้าไปในวุ้นลูกตา เป็นการรักษาโดยใช้นวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์ทางชีววิทยา (Biological Product) ที่ใช้กับตาโดยเฉพาะ วิธีนี้เป็นการรักษาแนวใหม่และยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคได้ตรงจุดมากขึ้น
 
การป้องกันการเกิดโรค
๑. หลีกเลี่ยงการได้รับแสงหรือรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นระยะเวลานาน
๒. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
๓. กิน อาหารที่มีบีตาแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ปริมาณสูง เช่น แอปเปิ้ล บร็อกโคลี ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง
 
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ website : www.rcopt.org
 
 
 
.

อาการ “แพ้” ทางผิวหนัง ผื่นคันและลมพิษ

อาการ “แพ้” ทางผิวหนัง ผื่นคันและลมพิษ 
ถ้าถามว่าโรค “แพ้” เป็นอย่างไร ทำไมถึงแพ้ มีกลไกเช่นไร ก็ต้องบอกว่าโรค “แพ้” มีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่โรคแพ้ทางผิวหนังมักจะเห็นเป็น ผื่นคัน มีตุ่มน้ำ จุดแดงเล็กๆ ปรากฏขึ้นตามตัว บางครั้งจะเห็นลักษณะเป็นหนังแห้งกว่าปกติ เป็นผุย เป็นสะเก็ด คัน มีรอยเกา
ถ้าถามว่าทำไมแพ้ ก็บอกง่ายๆ ว่า เพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีแรงต้านทาน คนทั่วไปที่เขาไม่แพ้ เพราะเขามีภูมิคุ้มกัน มีแรงต้านทาน คนไข้บางคนมักถามว่า โรคนี้คือโรคน้ำเหลืองเสียใช่ไหม ซึ่งก็ตอบได้ว่า จะว่าเช่นนั้นเพื่อให้เข้าใจง่ายก็พอได้เหมือนกัน หมอเคยถามคนไข้ว่าที่ว่าน้ำเหลืองเสีย หมายความว่าอย่างไร คนไข้บอกว่า ลูกผมน้ำเหลืองเสียเพราะถูกยุงกัดนิดเดียว แต่เป็นตุ่มคันไปทั้งขา ลูกคนอื่นเขาถูกยุงกัดเป็นกอง เห็นเป็นแค่จุดแดง หมอที่รักษาบอกว่า ถ้าเช่นนั้นจะว่าน้ำเหลืองเสียก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าพูดว่าแพ้น้ำลายยุง ก็จะชัดที่สุด
คนที่เป็นโรคแพ้นั้น อาจจะมีสื่อที่จะทำให้เกิดการแพ้ได้ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ คือ เป็นกรรมพันธุ์ ในคนพวกนี้ จะพบว่ามีญาติพี่น้องเคยเป็น หรือเป็นหวัดจามทั้งปี หรือโพรงจมูกอักเสบบ่อยๆ หรือเป็นหืด ลมพิษ ปากบวมตาบวมเก่ง อาการทางผิวหนังของคนพวกนี้ จะเห็นเป็นผื่นแดง ผิวหนังแห้ง ชอบเกา ถ้าเป็นเด็กจะซนอยู่ไม่สุก เราเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นโรค “อะโทบีค” สาเหตุที่แพ้เก่ง ก็เพราะมีโปรตีนชนิดภูมิแพ้อยู่ในตัวมากไปหน่อย เรียกว่า “อมมูนโน โกลบลูลิน อี” หรือย่อว่า “ไอ.จี.อี.”
เวลา ถูกต้องกับสิ่งที่แพ้เข้า เช่น อาหาร ละอองเกสร ฝุ่น ก็จะมีปฏิกิริยาระหว่างสารเหล่านี้กับ ไอ.จี.อี. ทำให้เกิดเป็นโรคแพ้ผื่นคัน หวัดจามทั้งปี หรือไข้ละอองฟาง หืด หรือลมพิษ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ นายวิทย์ ภรรยาชื่อคุณนิด มีลูกคนสุดท้องอายุ 4 ขวบ ชื่อลูกนก แกซนเหมือนบรรพบุรุษมนุษย์ เป็นโรคอะโทปิคเหมือนกัน พอพามาพบหมอ คุณแม่บรรยายความรำคาญต่ออาการผื่นคันของลูกคนนี้รักษาไม่หาย รักษาแล้วหลายหมอ ทายาก็หลายอย่างแล้ว และอะไรต่างๆ ร้อยแปด และลูกซนมากถามอีกนิดว่า เด็กฉลาดไหม คุณแม่ก็เปลี่ยนเรื่องเสียใหม่ว่า เด็กเรียนเก่ง แสนรู้ คือ คุณแม่จะพูดได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับลูกคนนี้ไม่รู้จบ
ถามประวัติทางบ้าน พบว่า พี่สาวคนหนึ่งก็เป็นผื่นคัน ระหว่างซักถามนี้ให้ปล่อยเด็ก จะเห็นว่า เด็กซุกซนไม่อยู่กับที่และไม่กลัวคน เด็กพวกนี้เวลาเล่นถูกฝุ่นก็จะคัน อากาศร้อนไปหน่อย เย็นไปหน่อยเหงื่อออกก็คัน กินอาหารผิดก็คัน อาบน้ำบ่อยใช้สบู่แรงๆ หรือสบู่ยาก็คัน ใส่เสื้อผ้าที่เป็นขนก็คัน ถูกแดดจัดก็คัน เด็กหญิงลูกนกเวลาคันที่ศีรษะก็หยิบหวีของคุณแม่มาหวีที่ศีรษะอย่างแรงจนดัง แกรกๆ เวลาคันตามตัวก็เกาอย่างแรงจนเนื้อตัวเป็นรอย เพราะฉะนั้นจึงตัดเล็บให้สั้นเอาไว้ เมื่อนำเด็กมาตรวจก็พบว่า ผิวหนังแห้งกว่าเด็กปกติ ตามหน้า แขน ขา ข้อพับ มีรอยผื่นแดง และจุดแดง ลักษณะของผื่นคันกระจาย อยู่เป็นหย่อมๆ หากเจาะเลือดตรวจดู อาจพบว่า มีเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า อีโอซิโนฟิล อยู่มากกว่าปกติ
ในการรักษาทั่วไปมี 2 อย่าง
คือ แนะนำและการใช้ยา ต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยง และสังเกตสาเหตุของอาการแพ้ และอาการคัน เช่น ถ้าคันหลังอาบน้ำก็ไม่ควรอาบน้ำบ่อย บางคนแพ้ฝุ่นก็ไม่ควรถูกฝุ่น ไม่ควรถูกแดดร้อน หรืออากาศเย็นมาก เสื้อผ้าที่เป็นขนไม่ควรใช้ แป้งฝุ่นต่างๆ ควรงดไว้ก่อน และหากเด็กยังไม่เคยปลูกฝี ก็ควรจะเว้นไว้ จนกว่าหมอเด็กจะเห็นสมควร สบู่ควรใช้สบู่ครีม สบู่อ่อนที่อเมริกามีสบู่ทำขาย บอกไว้ว่าสำหรับ “อะโทปิค สคิน” (คนขี้แพ้ หนังเปราะ) โดยเฉพาะ ยากินก็ให้กินยาแก้คันแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ขององค์การเภสัชกรรม (ราคาเม็ดละ 10 สตางค์) ยาทา ก็ใช้พวกสเตอรอยด์ เช่น ครีมแพร็ดนิโซโลน (ราคาหลอดละ 5 บาท) หรือ ครีมเบตาเมธาโซน (ราคาหลอดละ 11 บาท) เวลาซื้อควรระวัง องค์การเภสัชกรรมทำยาพวกนี้ออกมา 2 อย่าง ซึ่งอย่างหนึ่งมีคำว่า “เอ็น” อยู่ด้วย อย่าซื้อมาใช้เพราะทำให้แพ้ได้ ส่วนยาครีมผสมสเตอรอยด์ กับยาแก้คันนั้นก็ใช้ได้ เช่น ยูแรกซ์วิท ไฮโดรคอร์ดีโซน เป็นต้น
หลัง จากนี้ผู้ปกครองหรือคุณแม่จะตั้งคำถามว่า ลูกเป็นเพราะอะไร เมื่อไรจะหาย โดยมากควรจะหลีกเลี่ยงการอธิบาย เรื่องภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันแอนติเจน แอนติบอดี้ และกรรมพันธุ์ เพราะคุณแม่เป็นกังวลอยู่แล้ว จะปวดหัวมากขึ้น ควรอธิบายว่าเด็กคนนี้ฉลาด จึงซน และเพราะความฉลาด เลยมีการแสดงออกทางผิวหนัง ผมเคยอธิบาย เรื่องกรรมพันธุ์ ไอ.จี.อี. และการแพ้ให้คุณแม่ของลูกนก ซึ่งเป็นโรคอะไรไม่รู้เรื่อง และเท่านั้นก็ได้เรื่อง คุณแม่เขาไม่ยอมแพ้ เพราะแม้แต่คุณวิทย์ซึ่งเคยเป็นนักมวยแชมเปี้ยน และเดี๋ยวนี้เป็นทนายความชนะมาทั่วประเทศ คุณนิดเขายังปราบเสียอยู่หมัด หงอยเหงาอยู่ใต้ข้อศอกตลอดมา คุณนิดแอบสืบสวนญาติพี่น้องของตัวเองจนหมด แน่ใจว่าไม่มีใครเคยเป็นโรคภูมิแพ้ ส่วนความฉลาดของลูกนั้นเป็นเพราะฉัน ซึ่งคุณวิทย์ก็ต้องยอมรับแต่โดยดี
ลมพิษ
ก็ เกี่ยวกับการแพ้เหมือนกัน โดยมากเกี่ยวกับการสูดดม กินอาหารหรือฉีดยาที่เป็นสาเหตุเข้าไป พวกที่เป็นลมพิษแล้วมีอาการบวมที่ตา ปากควรระวังเยื่อบุผิวของทางผ่านอากาศ เข้าสู่ปอด อาจจะบวมด้วย เกิดหายใจลำบาก หายใจขัดได้
ลักษณะของลมพิษ คือ เป็นวงแดง รูปร่างต่างๆ กันเหมือนเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดวงไว้บนผิวหนังเป็นกลมบ้าง รีบ้าง รูปหยักบ้าง คล้ายวาดแผนที่ไว้บนตัว เนื้อภายในวงจะนูนเล็กน้อย และมีสีซีดกว่าขอบ อาการสำคัญคือ คันมาก คนไข้มักจะบอกว่า พอเกาตรงไหน ก็เป็นผื่นแดงขึ้นมาตรงนั้น ผื่นคันพวกลมพิษนี้มักจะเกิดอยู่ 3-4 ชั่วโมงและหายไปเอง หรือเกิดขึ้นใหม่ได้อีก จะเป็นๆ หายๆ อยู่ในระยะไม่เกิน 2 เดือน เรียกว่า “ลมพิษชนิดเฉียบพลัน” ถ้าเป็นอยู่นานกว่านี้เรียกว่า “ลมพิษชนิดเรื้อรัง” ลมพิษชนิดเรื้อรังเป็นอยู่ได้เป็นปีๆ
สาเหตุของลมพิษ มีมากมายหลายชนิด กลไกที่ทำให้เกิดเป็นผื่นขึ้นมา จึงเป็นเรื่องซับซ้อนอธิบายกันว่า เมื่อสิ่งใดที่ทำให้เกิดลมพิษได้มาถูกผิวหนัง หรือถูกนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโดยการกิน การดมสูดเข้าไป หรือฉีดเข้าไป (ไม่จำเป็นต้องฉีดยา) ตัวอย่างเช่น มดกัด ในคนที่แพ้ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นในร่างกาย เกิดการขับสาร ชื่อ ฮีสตามีน (สารแพ้) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้ผนังเส้นเลือดพองขยายตัวออก น้ำเหลืองและโปรตีนหลุดออกมา เกิดรอยนูนแดง และคันขึ้นบนผิวหนัง ว่ากันว่า สารเคมีอีกบางชนิด เช่น “บราดิไคนิน” “โปรสแกลนดิน” และ “เสโรโตมิน” ก็มีส่วนร่วมในปฏิกิริยานี้เช่นกัน
สาเหตุของลมพิษก็มีหลายอย่าง เช่น พวกทำให้เกิดการแพ้ คือ อาหาร ยา ซีรั่ม พิษสัตว์ ขนแมว ขนหมา อาหารทะเล ไข่ ส้ม ขนมจีน เป็นต้น สิ่งแวดล้อมทั่วร่างกายก็ทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น แดด ความร้อน ความเย็น น้ำ น้ำแข็ง การกด การยกน้ำหนัก เป็นต้น โรคในร่างกายก็ทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น มะเร็ง ฟันผุ หูเป็นน้ำหนวก พยาธิลำไส้ แม้แต่ไม่เป็นอะไรเกิดหงุดหงิดคิดมาก ก็เป็นลมพิษได้เหมือนกัน
การรักษาลมพิษเบื้องต้นมี 2 ประการ คือ บำบัดอาการ และบำบัดสาเหตุ การบำบัดอาการก็ให้กินยาพวกแอนตี้-ฮีสตามีน (ยาแก้แพ้) และใช้ยาทาแก้คันดังกล่าวข้างต้น การบำบัดสาเหตุ เป็นกรรมวิธีอันซับซ้อนและกินเวลา อาจทำได้จากการซักประวัติ การสังเกต การทดสอบทางผิวหนัง เป็นต้น
การเป็นลมพิษบางครั้งก็มีประโยชน์ สุภาพสตรีคนหนึ่ง อายุ 45 ปี มีลูกแล้ว 3 คน หลังจากคลอดลูกคนสุดท้อง ต้องพักรักษาตัวอยู่นาน สามีก็เริ่มออกเที่ยว กลับบ้านดึก ในระยะต่อมา หากดึกแล้วสามีไม่กลับบ้าน แกสงสัยว่าสามีไปเที่ยวผู้หญิง ก็จะเกิดหืดหอบเป็นลมพิษ โดยจะให้กินยาอะไรก็ไม่หาย แต่ถ้าสามีกลับมาให้กินยา ทายาเอง และปลอบใจ อาการก็จะหายไป สามีเลยตัดใจเลิกเที่ยว อาการโรคลมพิษก็หายไป เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวดีเหมือนกัน
ยาก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง
อาการแพ้จากยา ไม่ใช่ฤทธิ์หรือสรรพคุณของยาโดยตรง แต่เป็นปฏิกิริยาเชิงซ้อนที่ร่างกายโต้ตอบออกมา หรือกลไกอย่างอื่น เช่น กรรมพันธุ์ ยาที่มักจะแพ้กันบ่อยๆ ก็คือ เพนนิซิลลิน และแอสไพริน ลักษณะของการแพ้ยากินมีหลายอย่าง เช่น เป็นผื่น เป็นจุด ลมพิษ คันเป็นวง และอื่นๆ อีกมาก จนมีผู้แนะนำว่าหากมีคนเป็นโรคผิวหนังมาหาก็ให้นึกถึงโรค 3 โรคที่แสดงอาการได้หลายอย่าง ก่อนอื่นนั่นคือ การแพ้ยาโรคซิฟิลิส และโรคแพ้จากการสัมผัส
โรคแพ้จากการสัมผัส (Contact dermatitis) หมาย ถึง อาการผื่นคันทางผิวหนังที่เกิดขึ้น หลังจากได้สัมผัสถูกต้องกับสิ่งของภายนอกร่างกาย และวัตถุสิ่งนั้นเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดอาการทางผิวหนังขึ้น ทั้งนี้ไมได้เกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไป แต่เกิดกับคนบางคน ที่ไม่มีภูมิต้านทานจากสารชนิดนั้นเท่านั้น
ต้องอธิบายสักหน่อยว่า โรคแพ้จากการสัมผัสนี้ ไม่มีกลไกเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมพันธุ์ถ่ายทอดให้ใครไม่ได้ เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ว่าการสัมผัสนั้นจะต้องเป็นมาแล้วระยะหนึ่ง หมายความว่า ไม่ใช่พอถูกเข้าครั้งแรกครั้งเดียวแล้วก็แพ้ อาจจะถูกมาก่อนเป็นเวลาหลายๆ วัน เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ แล้วจึงเกิดอาการ นี่แสดงว่า ต้องมีการสัมผัสถูกต้องมาอย่างน้อย 2 ครั้ง การถูกต้องสัมผัสครั้งแรกๆ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านขึ้นมา เช่น พอถูกโลหะเงิน เงินก็ขับผ่านผิวหนังไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้าน ระยะนี้เรียกว่า “ระยะฟัก” ซึ่งอาจจะนานเป็นวันเป็นเดือน เป็นปี ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนประกอบหลายอย่าง หลังจากนั้น ถ้าถูกเงินเข้าอีกครั้งหนึ่ง จึงจะเกิดปฏิกิริยาขึ้น เรียกระยะแสดงตัว และหลังจากนี้หากถูกเงินเข้าอีก ก็จะขึ้นเป็นผื่นคันเกือบทุกครั้ง เช่น
ปกติแม่บ้านทั่วๆ ไป มักมีงานประจำ คือ ซักผ้า ทำความสะอาดของใช้ในบ้าน ในการนี้มักจะใช้ผงซักฟอกช่วยในการทำความสะอาดบุคคลทั่วๆ ไป ทำงานบ้านเช่นนี้ได้เป็นปกติ แต่ก็มีแม่บ้านบางคนหลังจากทำงานประจำนี้อยู่ได้สักระยะหนึ่ง ก็เกิดผื่นแดง เป็นตุ่ม กับอาจมีลักษณะผิวหนังเปื่อยที่มือ แม่บ้านเหล่านี้เป็นพวกที่แพ้ผงซักฟอก คือเกิดมีอาการทางผิวหนังขึ้นมา ซึ่งโดยภาวะปกติทั่วไปเขาไม่เป็นกัน
ปกติทุกคนมักจะผูกนาฬิกาที่ข้อ มือ โดยใช้สายนาฬิกาทำด้วยหนังหรือวัตถุโลหะ บุคคลทั่วๆ ไปผูกนาฬิกาได้โดยปกติ แต่ก็มีบางคนที่ผูกนาฬิกา ก็เกิดผื่นแดงคันขึ้นที่ข้อมือ บุคคลพวกนี้เป็นพวกแพ้ส่วนประกอบของสายนาฬิกา ถ้าใช้สายโลหะ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสายหนัง หากใช้สายหนัง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสายโลหะ
ใน สบู่ที่มีสารประกอบ พวกฮาโลเจของซาลิซัยลานิไลด์ สบู่พวกนี้มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งก็มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และไม่มีอาการอะไร แต่มีบางคนใช้แล้วหลังจากตากแดดก็เกิดผื่นคันตามส่วนที่ถูกแดด เช่น ตามบริเวณใบหน้า คอ แขน คนที่แพ้สบู่ชนิดใหม่ที่ไม่มีสารประกอบชนิดดังกล่าว
ยา เพนนิซิลลิน และ ยาแก้ปวดมีจำหน่ายอยู่ทั่วๆ ไป และใช้กันมากไม่มีใครเป็นอะไร แต่บางคน พอกินเพนนิซิลลินก็อาจเกิดลมพิษได้ บางคนกินยาแก้ปวด ก็เกิดผื่นคันเป็นวงแดงขึ้น พวกนี้เป็นพวกแพ้ยาเพนนิซิลลิน และยาแก้ปวด
ควรจะสังเกตดังนี้ว่า ภูมิต่อต้านที่เกิดขึ้น เป็นผลเฉพาะตัวกระตุ้น เช่น ภูมิต่อต้านโลหะเงินก็จะสร้างปฏิกิริยาเฉพาะกับเงินไม่ไปทำให้เกิดปฏิกิริยา แพ้กับตัวกระตุ้นอย่างอื่น คนที่แพ้สีก็ต้องมีภูมิต่อต้านสีเกิดขึ้นมา และคนๆ หนึ่งอาจจะแพ้ได้หลายอย่าง แต่ละอย่างก็มีภูมิต่อต้านของตัวเอง ภูมิต้านทานต่อสารตัวหนึ่งจะกระโดดไปมีปฏิกิริยากับสารอีกชนิดหนึ่งนั้น นับว่ามีได้น้อยมาก
อีกประการหนึ่ง อาการแพ้จากการสัมผัส มักจะเกิดขึ้นตรงจุดที่สัมผัสจากสารกระตุ้นเท่านั้น เช่น แพ้กางเกงใน ผื่นคันที่เกิดที่หน้าขา หน้าท้อง แพ้ยาดับกลิ่น ก็จะเกิดอาการคันที่รักแร้ ผิดกับพวกลมพิษซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งตัว อย่างไรก็ตามอาการแพ้ห่างจุดสัมผัส เช่น จุดสัมผัสที่เท้าแต่มีอาการทั้งที่เท้า และมือก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน
อย่างไร ก็ดี บางคนถูกสารเคมีเข้าครั้งเดียว อาจเกิดผื่นคันได้เหมือนกัน กรณีนี้เป็นเพราะผิวหนังถูกก่อกวนหรือทำร้ายด้วยสารนั้นโดยตรง เช่น ถูกยางไม้กัด ถูกกรก ถูกต่างกัด เป็นต้น
โรคผิวหนัง ผื่นคันจากการแพ้ มีอีกชนิดหนึ่ง คือ ผื่นคัน ซึ่งเกิดจากงานซึ่งเป็นอาชีพ และผื่นคันของพวกที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สุภาพสตรีที่ทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์ (พนักงานรับโทรศัพท์) อาจแพ้หูโทรศัพท์เกิดผื่นคันที่มือ หรือที่ใบหู พวกช่างปูน อาจแพ้ปูนซีเมนต์ พบอาการเกิดขึ้นที่ง่ามมือ พนักงานพิมพ์ดีด อาจแพ้แป้นตัวพิมพ์ หรือหมึกจากกระดาษคาร์บอน เกิดเป็นเม็ดน้ำใสขึ้นที่นิ้ว และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า เป็นต้น สำหรับพวกที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะแพ้ส่วนผสม ส่วนประกอบที่ใช้ผลิตสินค้าขึ้นมา เช่น ยาง โลหะ แก๊ส และฝุ่นในโรงงานทอผ้า บางคนไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น เป็นช่างคุมเครื่องจักรอาจจะแพ้น้ำมันหล่อลื่นก็ได้
จากการซักประวัติ จากการดูลักษณะตำแหน่งของผื่นคัน แพทย์สามารถบอกได้ว่า คุณเป็นโรคแพ้และอาจทำนายสาเหตุได้ การทดสอบที่แน่นอน ใช้วิธีฉีดสารที่สงสัยว่าแพ้เข้าใต้ผิวหนัง แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
การรักษาที่ดีที่สุด คือ แนะนำให้หลีกเลี่ยงตัวสาเหตุ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้รักษาตามอาการ คือ กินยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน และทายาครีมแพร็ดโซโลน หรือ ครีมเบตาเมธาโซนดังกล่าว
สุดท้ายขอบอกว่า คนที่ผิวหนังแพ้ เป็นผื่นคันมักจะมีไอคิวสูง เพราะฉะนั้นหากเพื่อนคุณว่า “เอ็งไอ้คนผิวหนังแพ้ชอบเป็นผื่นคัน” คุณควรจะตอบว่า ‘ถึงกระนั้นข้าฯก็จัดอยู่ในประเภทคนฉลาดของโลก (เว้ย)’

 http://www.doctor.or.th/article/detail/5435

.