Linux : OS ฟรีๆ ก็มีในโลก (นะจะบอกให้)
posted on 01 Jan 2012 21:50 by linuxdiary directory Tech
(ย้ายมาจากบล็อกเก่า)
"Linux"
เป็นชื่อของระบบปฏิบัติการ (Operating System - จะขอเรียกย่อว่า OS)
ที่ถูกสร้างมาจากคนกลุ่มนึง ที่หวังจะให้มี OS ในรูปแบบ "ของฟรี" เป็น Open
Source ที่ใครๆ ก็สามารถนำไปใช้งาน เผยแพร่ ดัดแปลงแก้ไข ได้ตามต้องการ
ในขณะที่ OS ตัวอื่นๆ เช่น Windows, Mac ต่างก็เป็น OS
ที่ต้องเสียตังค์ซื้อทั้งนั้น (ไม่ก็หาของเถื่อนใช้กัน...)
อ่านแบบละเอียดได้ที่นี่ >> Wikipedia (ไทย)
ด้วยความที่ Linux เป็น OS แบบเสรี
จึงมีการนำไปดัดแปลงและเผยแพร่ในหลายชื่อมากๆ เราเรียกสิ่งนี้ว่า
"Distribution" หรือย่อๆ ว่า Distro ซึ่งมีหลายค่ายมาก
แทบจะบอกได้เลยว่าเป็นร้อยๆ แต่ค่ายที่มีคนรู้จักกันมากก็เช่น...
ชื่อเหล่านี้ผมเชื่อว่าถึงคุณจะไม่รู้จัก แต่ก็คงผ่านๆ ตามาบ้างแล้ว
โดยเฉพาะ Ubuntu (ที่ถูกบางคนเอาคำนี้ไปเล่นมุกใต้สะดือซะงั้น...
) ผมเองก็รู้จัก Linux ในชื่อ Ubuntu นี้ก่อนเพื่อนเลย
รู้จักทางทีวีในรายการเกี่ยวกับไอที
ที่จริงก็เคยได้ยินมาบ้างแล้วก่อนหน้านั้น แต่ก็ยังไม่ได้สนใจ
พอมาเห็นในทีวี โชว์วิดีโอการใช้งาน ผมก็เลยสนใจขึ้นมาทันที แบบว่า
"นี่มันระบบปฏิบัติการคอมฯ เหรอเนี่ย ทำไมดูดีได้ขนาดนี้" จากนั้นก็ได้ลองตัดสินใจใช้ดู
หลังจากที่ได้ลองผิดลองถูกมาเป็นเดือนๆ ก็ได้รู้ว่า "ของฟรีตัวนี้
มันทำงานได้เหมือน Windows หลายๆ อย่างเลย" แน่นอนว่า
มันก็ต้องมีข้อจำกัดอยู่บ้าง (ก็ของฟรีนี่) จะขอเล่าเลยแล้วกันครับ
ถึงข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของ Linux เมื่อเทียบกับ OS อื่นที่เสียตังค์
~ ~ ~ ~ ~
ข้อได้เปรียบ
ในที่นี้ผมจะขอเปรียบเทียบกับ Windows เพราะเป็น OS
ที่คนรู้จักและใช้กันมากที่สุดนะครับ
ข้อความต่อไปนี้อาจดูเหมือนไม่เป็นกลาง ถึงขึ้นไซโคเลยก็ว่าได้
แต่ก็ไม่ได้หวังจะโน้มน้าวชักจูง บังคับให้มาใช้ Linux หรอกครับ
แค่อยากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ เท่านั้นเอง จะยังใช้ Windows ต่อไป
หรือจะเปลี่ยนมาใช้ Linux ก็แล้วแต่คุณจะตัดสินใจเอาเองครับ
# ไม่ต้องเสียตังค์ ไม่ต้องกลัวเรื่องลิขสิทธิ์
Linux ฟรีจริงไม่มีเงื่อนไข เพราะใช้สัญญาอนุญาตแบบ GPL (GNU General Public License
- สัญญาอนุญาตสาธารณะทั่วไปของกนู)
ยังไม่ต้องรู้อะไรนักก็ได้เกี่ยวกับสัญญาอนุญาตพวกนี้ ที่อยากจะบอกก็คือ
ผมเชื่อว่าหลายคนคงชอบของฟรี
แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เคยใช้ของเถื่อนใช่มั้ยครับ
อย่างที่เห็นกันได้ง่ายๆ ที่สุดก็คือ Windows นี่แหละ คงรู้ๆ กันอยู่
แล้วไงล่ะ? จะแท้จะเถื่อนก็เหมือนๆ กัน ใช้ไปเถอะ
ตำรวจไม่เห็นจะมาจับเลย กฎหมายมีไปก็เท่านั้นแหละ! ....เอ่อ
คุณจะรอให้ถึงวันที่เค้าเข้มงวด จริงจัง เรื่องลิขสิทธิ์ เท่าๆ
กับฝรั่งก่อนใช่มั้ยครับ คุณถึงจะเลิกใช้ของเถื่อน หันมาใช้ของแท้
ถึงตอนนั้นคุกคงไม่พอขังคนแล้วมั้งครับ ก็ใช้ของเถื่อนกันเยอะนี่
ที่เล่ามานี่ไม่ได้จะมาชักจูงให้ใช้ของแท้หรือของฟรีหรอกนะครับ
แค่พูดไว้ให้คิดเท่านั้นเอง ในเมื่อไม่มีปัญญาใช้ของแท้
ก็ลองมาใช้ของฟรีได้ครับ สบายใจกว่ากันเยอะ
# ไวรัสหรือมัลแวร์แทบไม่มี
บางคนอาจจะไม่เชื่อข้อนี้ แต่เดี๋ยวก่อนครับ จะขออธิบายแบบง่ายๆ ไปเลย
คือว่าในแต่ OS มันถูกสร้างมาในสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน
พวกโปรแกรมอะไรต่างๆ จึงได้มีแบ่งแยกว่าเป็นของ Windows หรือ Mac
ถ้ามันใช้ติดตั้งได้ทั้งสองอย่าง ในตัวติดตั้งตัวเดียวกัน
คงไม่ต้องมาแบ่งแยกใช่มั้ยครับ... ไวรัสหรือมัลแวร์ก็เช่นกัน มันอาจจะทำให้
Windows เจ๊งได้ แต่ถ้ามาอยู่ในเครื่องที่เป็น Mac
มันก็ไม่รู้จะทำงานของมันยังไง แน่นอนว่าถ้ามันมาอยู่ใน Linux
มันก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย เพราะระบบข้างในของ OS มันไม่เหมือนกัน
ไวรัสเลยไม่รู้จะเล่นงานยังไง
...ดูจากรูปนี้แล้ว คิดไม่ออกเลยว่าไวรัสมันจะเล่นงานเครื่องได้ไง ในเมื่อไฟล์ระบบมันเป็นยังงี้
แต่ก็ใช่ว่า Mac และ Linux จะไม่มีโอกาสติดไวรัสเลยนะครับ
ถ้าเกิดแฮกเกอร์เค้าอยากจะเขียนให้ไปติด Mac หรือ Linux เค้าก็ย่อมทำได้
แต่ส่วนมากแล้วจุดประสงค์ของเค้าคือ
สร้างความเสียหายให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เค้าจึงเจาะจงกับกลุ่มใหญ่ๆ
อย่าง Windows มากกว่า ...แต่ถึงแม้จะมีคนอุตริ เขียนไวรัสใน Linux จริงๆ
ก็คงป่วนได้ไม่นานแล้วก็หายไป เพราะผู้ที่คอยพัฒนา Linux
เค้าจะอัพเดทอุดช่องโหว่อยู่เสมอเป็นรายวัน
แถมยังมีกลุ่มผู้ใช้งานคอยสอดส่องอยู่ตลอด
พร้อมที่จะรายงานความผิดปกติให้กับผู้พัฒนา Linux ได้ทุกเมื่อ
และอีกเหตุผลนึงที่ไวรัสทำอะไรกับ Linux ไม่ได้ง่ายๆ นั่นก็คือระบบ
"Authorization" ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ที่เกี่ยวกับระบบ
มันจะถามหารหัสผ่านจากตัวผู้ดูแลระบบ (นั่นคือตัวเราเอง
หรือไม่ก็คนอื่นที่ติดตั้ง Linux ) ทุกครั้ง
ไวรัสมันไม่รู้จักรหัสผ่านของเราจึงทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้
# ไม่ชัวร์ก็ลองใช้ก่อนได้ ไว้ถูกใจก่อนค่อยติดตั้ง
ความวิเศษที่ผมเองก็แทบไม่อยากเชื่อว่ามันจะทำได้จริง
แค่ใส่แผ่นแล้วให้เครื่องบู๊ตจากแผ่น
หน้าจอก็จะขึ้นทุกอย่างมาให้ราวกับว่าได้ติดตั้งลงเครื่องไปแล้วจริงๆ!!
จากนั้นก็ใช้งานอะไรๆ ได้แทบทุกอย่างทั้งพิมพ์งาน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม
เล่นเน็ต ฯลฯ ถ้าถูกใจก็สั่งติดตั้งได้เลย แต่ถ้าไม่
ก็ปิดเครื่องแล้วเอาแผ่นออก แล้วทุกอย่างในเครื่องก็กลับเป็นเหมือนเดิม
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น...
คุณสมบัติเจ๋งๆ แบบนี้คงจะไม่มีใน OS ไหนอีกแล้ว
(คงถึงขั้นไม่เคยมีเลยด้วยซ้ำ) ที่ Linux ให้เราได้ลองแบบนี้
เพราะต้องการให้เราได้รู้ว่า
มันทำงานได้ดีแค่ไหนในคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นๆ
ถ้าคิดว่าทำงานได้ดีก็จะได้ติดตั้งมันลงไปจริงๆ แผ่นติดตั้ง Linux
ที่มีคุณสมบัตินี้จึงถูกเรียกว่า "Live CD"
มันทำงานโดยการยืมทรัพยากรเครื่องบางส่วน มาทำงานร่วมกับตัวติดตั้ง
Linux และจะสร้างชื่อผู้ใช้ไว้เป็น Guest ...ในการใช้งานสดๆ แบบนี้จึง มี
ข้อจำกัดอยู่บ้าง คือบางเครื่องอาจจะหน่วงๆ และอีกข้อคือ
ไม่เก็บค่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลยเมื่อ Restart หรือ Shut Down
จึงทำให้การตั้งค่าบางอย่างที่ต้อง Restart ก่อนถึงจะเห็นผลนั้น ทำไม่ได้
ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่ Live CD นะครับ ยังมี "Live DVD"
และที่สำคัญคือมี "Live USB" ไว้ติดตั้งใน Netbook
หรือเครื่องที่ไม่มีช่องใส่แผ่น รวมไปถึงสำหรับคนที่ไม่อยากเปลืองแผ่น
ก็ใช้มันติดตั้งได้ง่ายๆ
# แทบจะไม่ต้องติดตั้ง Driver เอง
เพราะตัว Driver ต่างๆ มาพร้อมกับส่วนที่เรียกว่า Kernel หรือแก่นของ
Linux ผู้พัฒนาได้ใส่มันลงไปในแก่นนั่นเรียบร้อยเสร็จสรรพก่อนแล้ว
แม้จะไม่ใช่กับอุปกรณ์ทั้งหมด ยังมีตัวที่ยังไม่ทำงานอยู่บ้างเช่นการ์ดจอ,
เครื่องพิมพ์, สแกนเนอร์, กล้อง Webcam ฯลฯ ก็ไม่ใช่ปัญหา เราสามารถค้น
Google หามาติดตั้งได้ทีหลัง
# ไม่ต้องทำ Defragment ตลอดชาติ
Linux มีวิธีจัดการข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ที่ไม่เหมือนกับ Windows เพราะ
Linux จะทำการบันทึกรายการไว้ว่า
ส่วนไหนของฮาร์ดดิสก์ที่มีที่ว่างเท่าไหร่บ้าง
เมื่อจะเขียนข้อมูลลงไปก็จะพยายามหาในรายการ ตรงไหนมีที่ว่างพอ
ก็เขียนมันลงไป พูดง่ายๆ คือมันทำให้เป็นระเบียบตั้งแต่ตอนเขียนแล้ว
จึงทำให้ไม่ต้องมาคอยทำ Defragment ทีหลัง
ใน Windows ฮาร์ดดิสก์จะใช้ระบบ NTFS ไม่ก็ FAT แต่ใน Linux
จะใช้ระบบอื่นแทน เช่น ext3, ext4, JFS, XFS ฯลฯ
ซึ่งระบบเหล่านี้เป็นระบบเฉพาะของ Linux
ที่ได้ออกแบบมาให้ใช้หลักการข้างต้นดังที่ได้กล่าวไป
# เครื่องเก่าๆ กากๆ ก็ใช้งานได้
Linux ไม่ต้องการทรัพยากรเครื่องมากนัก ในขณะที่ Windows
พอมีรุ่นใหม่ออกมา ก็มักจะเรียกร้องทรัพยากรมากขึ้นๆ อยู่เสมอ แต่ Linux
ไม่ต้อง มันถูกออกแบบมาให้ใช้ได้กับเครื่องหลายๆ สเป็ก Distro
แต่ละแห่งก็มักจะออกรุ่นที่เผื่อไว้ให้เครื่องเก่าๆ ได้ใช้งานได้ด้วย บาง
Distro ก็ถึงกับออกรุ่นมาเพื่อเครื่องเก่าๆ ที่อายุเกิน 5-6
ปีโดยเฉพาะเลย... ถ้าแค่ใช้งานทั่วๆ ไปแบบบ้านๆ
ก็คงจะเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
และนี่คือตัวอย่าง Distro ที่ออกแบบ Linux มาแบบเบาๆ Light Weight เพื่อเครื่องเก่าๆ (และอาจจะถึงกับกากๆ ...เหอๆ)
# หน้าตา Interface สวยใส แต่งได้ตามใจ ลูกเล่นเยอะ
อธิบายเป็นตัวอักษรคงจะไม่เห็นภาพ จึงคิดว่าเอาภาพหน้าจอ และคลิป มาให้ดูน่าจะอธิบายได้ดีกว่าเยอะ
# โปรแกรมใช้งานมีให้เสร็จสรรพ
Linux ในแต่ละ Distro โดยส่วนมากเค้าจะมีโปรแกรมแถมมาด้วยอยู่แล้ว
โปรแกรมใช้งานทั่วๆ ไป พิมพ์งาน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นเน็ต ฯลฯ
เค้าก็จะมีมาให้อยู่แล้ว อ่านมาถึงตรงนี้บางคนบอกว่า Windows
ของชั้นก็มีแถมมาให้ครบๆ แล้วเหมือนกัน... ประทานโทษครับ
แผ่นที่ใช้ติดตั้งเป็นแผ่นแท้รึเปล่า ไม่ได้เป็นพวก Dark Lite Heaven Hell
Edition ต่างๆ นานา... ถ้าเป็นแผ่นนั้นจริงก็ไม่ต้องมาโม้ครับ
โปรแกรมที่แถมมากับ Linux บ่อยๆ ก็มักจะเป็นดังนี้ (บางตัวก็เป็นโปรแกรมที่เรารู้จักกันดี)
- พิมพ์งาน ทำเอกสารต่างๆ - Libre Office, OpenOffice
- โปรแกรมท่องเว็บ - Firefox, Chrome
- กราฟิก วาดรูป ตัดต่อ - GIMP, Mypaint, Inkscape
- แชทพูดคุยกับเพื่อน - Skype, Pidgin, Empathy, emesene
- ดูหนัง ฟังเพลง - VLC, mPlayer, Banshee, Audacious
- โปรแกรมบีบอัดไฟล์ - Archieve Manager
# มีศูนย์รวมซอพต์แวร์ ติดตั้งหรือถอนได้ง่ายๆ
ถ้าโปรแกรมที่ว่ามาในข้อที่แล้ว ยังไม่เพียงพอ อยากได้เพิ่ม
ศูนย์รวมซอฟแวร์ช่วยได้ครับ... แต่โดยปกติแล้วสำหรับคนที่ใช้ Windows
เวลาเราจะติดตั้งโปรแกรมใหม่ๆ เราคงต้องไปหาและดาวน์โหลดมา
หรือบางทีก็ซื้อมาใช่มั้ยครับ จากนั้นก็ติดตั้งลงไป
บางโปรแกรมก็มีตัวเลือกโน่นนี่ขึ้นมาให้ยุ่งยาก แถมบางทีติดตั้งเสร็จก็ต้อง
Restart อีก... ถ้าติดตั้งกันนานๆ ที ทีละตัวสองตัวคงจะยังไม่เป็นไร
แต่ถ้าจำเป็นต้องลงทีละหลายๆ โปรแกรม เช่นตอนเพิ่งล้างเครื่องใหม่ๆ
คงได้ลมจับแหงๆ
Linux ในทุกๆ Distro เค้าจะมี "ศูนย์รวมซอฟแวร์" หรือไม่ก็
"ตัวจัดการแพกเกจ" เข้ามาช่วยให้การติดตั้งโปรแกรมหรือการถอนทำได้ง่ายๆ
แค่เปิดมันขึ้นมาแล้วพิมพ์ชื่อโปรแกรม หรือคำบางคำลงไปนิดนึง
มันก็จะขึ้นรายชื่อโปรแกรมมาให้
หรือไม่ก็ไล่หาจากหมวดหมู่ที่เค้าจัดไว้ให้แล้ว แล้บก็เลือกติดตั้งมันลงไป
และตอนติดตั้งมันจะไม่เที่ยวถามโน่นถามนี่ให้วุ่นวาย
จะถามก็แค่รหัสผ่านของคุณ (Authorization) เท่านั้นเอง
# อัพเดทง่าย แทบไม่ต้อง Restart เครื่อง
ถ้าเป็น Windows เราคงสังเกตเห็นได้ว่า
การกระทำหลายอย่างของเราจะถูกเรียกร้องให้ Restart อยู่เสมอ เช่น
ตอนติดตั้งโปรแกรมเสร็จใหม่ๆ หรือตอนสั่งบางโปรแกรมให้อัพเดท
ไม่ก็อัพเดทตัว Windows ซึ่งมักจะทำให้เรารำคาญ
บางทีการอัพเดทอาจจะเปลี่ยนอะไรแค่นิดหน่อย มันก็ยังเรียกร้องให้ Restart
อยู่ดี
แต่ Linux ไม่ต้องทำบ่อยถึงขนาดนั้น การติดตั้ง อัพเดทโปรแกรม
หรืออัพเดทระบบ ส่วนมากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ทันที น้อยครั้งที่ Linux
จะขอให้เรา Restart (อันเนื่องมาจากระบบส่วนที่สำคัญถูกเปลี่ยนแปลง)
แต่การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในทันที ไม่ก็แค่ Logout
ออกแล้วเข้ามาใหม่ก็เปลี่ยนแล้ว
# Community ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง
คุณจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถ้าคุณได้รู้จักแหล่งพบปะและสังคมของคนใช้
Linux เช่นในเว็บที่แจกจ่าย Distro ต่างๆ เว็บบอร์ด บล็อก หรือแม้แต่ IRC
พวกเขาพร้อมที่จะตอบคำถามให้คุณได้แทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นๆ
ระดับ FAQ หรือเรื่องซับซ้อนที่คนไม่ค่อยถามกัน ถามพวกเค้าไปได้เลย
ขอแค่อธิบายเค้าให้ชัดเจน และสื่อสารกันให้เข้าใจได้เท่านั้นเอง
ในไทยนี้เท่าที่รู้มาก็มี Community อยู่หลายแห่งนะครับ ที่เกี่ยวกับ Linux เชิญดูได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้เลย
~ ~ ~ ~ ~
ข้อจำกัด
หรือบางคนเรียกมันว่า "ข้อเสีย" จริงๆ
แล้วหลายข้อมันก็ไม่ถึงกับเป็นข้อเสียหรอกครับ ไม่อยากเรียกยังงั้น
ควรเรียกว่าข้อจำกัดดีกว่า เพราะหลายข้อที่ว่านั้นมันก็มีอยู่ใน OS
ตัวอื่นๆ อย่าง Mac ด้วย
# ความนิยมน้อย
ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนมาก ใช้ Windows กันทั้งนั้น
คงเป็นเพราะเราถูกสอน ถูกปลูกฝังมานาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น...
แล้วบางคนคงจะไม่รู้จัก OS อื่นเลย บางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า OS คืออะไร
สักแต่จะใช้อย่างเดียว
ก็รู้ๆ กันอยู่ แทบไม่ต้องหาเหตุผลว่าทำไมคนถึงใช้แต่ Windows ลองดูกราฟนี่สิครับ....
- Windows XP (35.21%)
- Windows 7 (31.21%)
- Windows Vista (11.27%)
- Mac OS X (7.31%)
- iOS (3.38%)
- Android (1.30%)
- Linux (1.11%)
กราฟส่วนของ Mac สั้นมาก แต่ก็ยังสั้นไม่เท่า Linux ที่มีส่วนแบ่งแค่ 1% กว่าๆ เอง
เพราะ "ความนิยมน้อย" ข้อนี้ข้อเดียว เลยทำให้ข้อต่อๆ ไปข้างล่างนี้เกิดขึ้นมาได้
# โปรแกรมที่ทำงานได้บน Linux ยังน้อย
โดยเฉพาะพวกโปรแกรมที่ต้องเสียเงินทั้งหลาย
มันคือความจริงที่โหดร้ายสำหรับบางคน ที่ผูกพันกับโปรแกรมจำพวกนั้นมานาน
บางคนอาจจะใช้มันมานานถึง 10 ปีหรือไม่ก็ทั้งชีวิต การที่จะให้เค้ามาใช้
Linux ที่มีแค่โปรแกรมทดแทน จึงเป็นไปได้ยากมาก
ตัวอย่างเช่นโปรแกรม Photoshop ที่บางคนใช้ซะจนเป็นแขนขาของเค้าไปแล้ว
# เกมหลายเกมยังเล่นบน Linux ไม่ได้
ความจริงที่โหดร้ายอีกข้อสำหรับคนที่ชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ
ถึงแม้ใน Linux จะมีโปรแกรมที่ช่วยให้เกมเหล่านั้นเล่นได้ เช่น WINE,
PlayOnLinux, Crossover แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ 100% เผลอๆ
จะยุ่งยากปวดหัวกว่าตอนที่ลงเกมใน Windows ซะอีก
จริงอยู่ที่ใน Linux ก็มีเกมฟรี (และแบบเสียตังค์)
ให้เล่นอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเทียบกับเกมบน Windows ก็ถือว่าน้อยมากๆ อยู่ดี
เพราะคนทำเกมส่วนมากต้องการทำเพื่อหาเงินทั้งนั้น
เค้าคงจะไม่ยอมลดตัวลงมาทำเพื่อ OS ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 1% นี่แหงๆ
...จึงไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องเกมออนไลน์ที่สูบเงินผู้เล่นอย่างสนุกสนานนั่น
เลย
# ยังไม่รู้จักฮาร์ดแวร์ที่ใหม่เกิน
ถึงจะบอกว่าไม่ต้องติดตั้ง Driver เอง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีพร้อมเสร็จสรรพให้กับอุปกรณ์ทุกตัว
โดยเฉพาะพวกที่เพิ่งออกใหม่ๆ 2-3 เดือน จะยังทำงานบน Linux ไม่ได้
เพราะผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านั้นยังไม่ทำ Driver สำหรับ Linux มา
หรือไม่อยากทำ ...แต่ก็ยังดีที่มีผู้พัฒนา Linux ทำการพัฒนา Driver
สำหรับลินุกซ์ให้ฮาร์ดแวร์เหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ
ข้อจำกัดนี้จึงไม่น่าจะหนักหนาอะไรนัก
# ผู้ใช้ที่เคยใช้ OS อื่นมาก่อน อาจปรับตัวได้ยาก
อย่าว่างั้นงี้เลย แค่จะให้คนที่ใช้ Windows เปลี่ยนไปใช้ Mac
หรือแม้แต่ไปใช้ Windows รุ่นอื่นๆ จากที่เค้าใช้ พวกเค้าก็คงไม่ยอมกันแล้ว
ถ้าไม่ลองเปิดใจ จะให้เค้าเรียนรู้อะไรใหม่ๆ คงยาก
กลับมาพูดถึงคนที่อยากจะมาใช้ Linux ดีกว่า มือใหม่หลายๆ
คนคงท้อเอาได้ง่ายๆ เมื่อสิ่งที่เค้าเคยรู้มาจาก Windows แทบจะเอามาใช้กับ
Linux ไม่ได้เลย ตั้งแต่เรื่อง Interface, การจัดการไฟล์,
การใช้งานโปรแกรมฟรีแวร์, การติดตั้งหรือถอนโปรแกรม ฯลฯ
....ใครจะไปรู้ล่ะว่า ต้องใส่รหัสผ่านทุกครั้งที่ติดตั้งหรือถอนโปรแกรม
ถ้าไม่ศึกษามาก่อน หรือบางทีก็พยายามหาโปรแกรม Defragment บน Linux
กันจนแทบพลิกแผ่นดิน หารู้ไม่ว่ามันไม่ต้องทำแบบนั้น
แต่ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางแก้เสมอ ปัญหาความไม่คุ้นชิน ใครๆ
ก็เคยเป็นกันทั้งนั้นครับ
....อยากให้คุณลองนึกไปถึงสมัยที่คุณเพิ่งรู้จักเครื่องคอมฯ
ได้จับต้องเป็นครั้งแรกดู คุณเคยลำบากแค่ไหนกับการใช้งานมันให้เป็น...
ให้เอาความรู้สึกนั้นแหละครับมาใช้กับ Linux ทำตัวให้เป็นกระดาษว่าง
แก้วเปล่า เปิดใจเรียนรู้มัน เชื่อได้ว่าคงไม่เกินความสามารถคุณแล้วล่ะครับ
# อาจต้องสั่งการด้วย Command Line อยู่บ่อยๆ
Command Line คือการสั่งการโดยพิมพ์คำสั่งลงไป
บนหน้าจอที่มีแต่ตัวหนังสือ เหมือนกับ DOS นั่นแหละครับ แต่ใน Linux
คำสั่งจะเป็นแบบอื่นแทน... มือใหม่แทบทุกคนคงจะเคยอยากเลิกกลางคัน
เพียงเพราะไปถามใครๆ ดู แล้วได้คำตอบกลับมาเป็นตัวหนังสือ 2-3 บรรทัด
เช่น...
sudo add-apt-repository ppa:ABCDE/FGHIJK
sudo apt-get update
sudo apt-get install FGHIJK
หรือไม่ก็โชคร้าย ได้มาอย่างยาวเป็นหลายสิบบรรทัด เจอเข้าไปก็ไม่รู้จะทำไงเพราะไม่รู้จักคำสั่งเหล่านี้
sudo apt-get update
sudo apt-get install FGHIJK
หรือไม่ก็โชคร้าย ได้มาอย่างยาวเป็นหลายสิบบรรทัด เจอเข้าไปก็ไม่รู้จะทำไงเพราะไม่รู้จักคำสั่งเหล่านี้
ที่จริงคำสั่งพวกนี้ที่เค้าให้มา มีไว้ใส่ในโปรแกรม Terminal ครับ
(เทียบกับ Windows ก็โปรแกรม Command Promp) แค่ก็อปไปทีละบรรทัดแล้ววาง กด
Enter มันก็จะประมวลผลให้ตามที่เราใส่ลงไป
...ที่บอกไปในหัวข้อว่าอาจต้องสั่งการด้วย Command Line อยู่บ่อยๆ
เพราะว่าคำสั่งบางอย่างถ้ามาทำผ่าน Command Line แล้วจะสะดวกกว่าการทำผ่าน
GUI (Graphical User Interface : ส่วนติดต่อผู้ใช้แบบเห็นภาพ)
...หรือบางทีอาจมีคำสั่งที่ GUI ทำให้ไม่ได้ เราก็ต้องมาทำผ่าน Command
Line เช่นการติดตั้ง Driver เครื่องพิมพ์ด้วยตัวเอง
หรือการติดตั้งโปรแกรมที่มาในรูปแบบ tar.gz (ไฟล์บีบอัดชนิดนึงของ Linux)
เป็นต้น
ทั้งนั้นทั้งนี้ สำหรับคนที่อยากใช้ Linux แบบจริงๆ จังๆ
ผมว่าจำเป็นมากที่จะต้องศึกษาวิธีใช้ Command Line
ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวไป... ถ้าใช้เป็นแล้ว ไม่ว่าจะไปใช้ Linux
จากค่ายไหนก็ใช้ได้หมด และเวลาที่เรามีปัญหา จะได้ปรึกษากับคนอื่นๆ
ที่ใช้เป็นแล้วได้ง่ายๆ
~ ~ ~ ~ ~
เป็นไงบ้างครับ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองใช้ดูบ้างรึยัง
ถามตัวเองก่อนก็ได้ครับว่าทุกๆ วันเราใช้คอมฯ เพื่อทำอะไร
ถ้าเอาไว้เล่นเกมอย่างเดียวหรือใช้โปรแกรมเทพๆ ที่ใช้ได้บน Windows
เท่านั้น ก็ใช้มันต่อไป ไม่ต้องสน Linux ก็ได้
แต่ถ้าใช้คอมฯ เพื่อทำเรื่องพื้นๆ ทั่วๆ ไป เช่นพิมพ์งาน ดูหนัง
ฟังเพลง ดูเว็บ เล่น Facebook เช็ค Twitter ฯลฯ ผมคิดว่า Linux
เหมาะกับคุณมาก เพียงแค่คุณเปิดใจเท่านั้น...
หรือถ้าคุณเป็นทั้งสองอย่างที่ว่ามานี้ เกมก็เล่น งานอื่นๆ ก็ทำ
อาจจะสองจิดสองใจไม่รู้จะ Windows หรือ Linux ดี... ก็ไม่ต้องห่วงครับ
เราสามารถติดตั้ง Linux คู่กับ OS ที่เราใช้เป็นประจำ
แล้วใช้งานมันทั้งคู่ซะก็ยังได้ แม้จะเปิดทั้ง 2 OS ในเวลาเดียวกันไม่ได้
ก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ...ตอนไหนใช้งานทั่วไป เวลาเปิดเครื่องก็เลือกบู้ตเป็น
Linux ซะ ตอนไหนอยากเล่นเกมก็เลือก Windows
Entry หน้า ผมจะมาเล่าเรื่องการใช้งาน Live CD, Live USB
และวิธีการติดตั้ง Linux ให้ได้อ่านกันนะครับ ท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทุกๆ
คนที่อ่านจนจบนะครับ อาจจะรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็คงไม่ว่ากันนะ ตอนนี้ต้องขอตัวไปหาข้อมูลมาเพิ่มแล้วครับ ค่อยเจอกันใหม่ใน Entry หน้ารับรองว่าจะเขียนให้แซ่บกว่านี้แน่นอน...
No comments:
Post a Comment